วันอาทิตย์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2555

หนทางสู่สลาฟียฺ


หนทางสู่สลาฟียฺ 

เขียนโดย เชคซุลฏอน อิบนิอับดุรเราะมาน อัลอีด

เเปลโดย ซาล็ม บุญมาศ

ดาวน์โหลด ที่ http://www.mediafire.com/?hblhm3kjbw8i3em

วันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2554

จะตะอัซซุบหรือไม่ตะอัซซุบ



ความหลากหลายของกลุ่มญามาอะฮฺซึ่งแน่นอนว่าการทำงานของแต่ละกลุ่มย่อมมีความเฉพาะของกลุ่มแต่ละกลุ่มซึ่งแตกต่างกัน อย่างไรก็ตามความแตกต่างเหล่านี้ไม่เป็นปัญหาของการดะวะฮฺอิสลามียะฮฺแน่นอนเพราะแต่ละกลุ่มมีเป้าหมายเดียวกัน คือเพื่อความพอใจของอัลลอฮฺอัซซะวะญัลเท่านั้น

แต่ในสภาพจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันพบว่ามีความขัดแย้งในแนวทางของญามาอะฮฺอย่างมากมาย เช่นเดียวกันกับอดีตที่มีความขัดแย้งในเรื่องของมัซฮับอย่างมากมายนั้นเอง ต้นเหตุของความขัดแย้งอยู่ที่ความตะอัซซุบนั้นเอง 

ประเด็นที่ต้องกล่าวกันอย่างชัดเจนที่สุด คือ อะไรและอย่างไรคือตะอัซซุบหรืออะศอบียะฮฺ  ซึ่งรอซูลลุลอฮฺได้ให้ความหมายไว้อย่างชัดเจนที่สุดว่า คือ การช่วยเหลือหมู่คณะของตนในเรื่องที่ไม่เป็นธรรม (อิบนิมาญะฮฺ) ซึ่งบุคคลประเภทนี้รอซูลลุลลอฮฺกล่าวว่า ไม่ใช่พวกของท่าน  (อบูดาวูด)  ดังนั้นฉันเห็นว่าจะต้องมีความชัดเจนที่จะกล่าวหาว่าอย่างไร  ใคร พฤติกรรมเช่นไร จึงเป็นการอะศอบียะฮฺหรือตะอัซซุบ การพูดลอยๆ ฟังดูดี และกว้างๆ ซึ่งจะพูดอย่างไรก็ไม่มีวันผิด แต่ไม่มีประโยชน์ใดๆทางวิชาการ ย่อมใช้ไม่ได้ และจะเป็นการอธรรมต่อพี่น้องมุสลิมอย่างไม่รู้สึกรู้สาก็เป็นได้

ดังนั้นประเด็นสำคัญที่สุด ก็คืออย่างที่เชคอัลบานียฺกล่าวไว้ คือให้พูดเตือนพี่น้องของเขาตรงๆ เพราะการกระแหนะกระแหนพี่น้องถือว่าต้องห้าม ให้ตำหนิตรงๆอย่างที่ท่านนบีกล่าวกับท่านอบูบักรว่า ท่านถูกส่วนบางส่วนและผิดบางส่วน (ซีฟัตซอลาตุลนะบี) 

ส่วนการตามผู้รู้การตามเชคต่างๆ การตามมัซฮับ การตามันหัจ(แนวทาง)หนึ่งในการทำงานไม่ใช่เรื่องผิด และไม่ใช่การตะอัซซุบอย่างแน่นอน  แต่การตะอัซซุบก็คือว่า การตามอย่างไม่มีความยืดหยุ่นของการตาม หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งคือการตามในเชคของตัวเอง ญามาอะฮฺของตัวเอง อย่างไม่มีเหตุผล อย่างมืดบอด และที่น่ากลัวที่สุดคือการค้านหลักฐานที่เชื่อถือได้จากนบีที่ใช้ได้เพราะแย้งกับผู้รู้ที่ตนยึดแย้ง

ยกตัวอย่างการตะอัซซุบ ได้แก่  การไม่ประสีประสาทางวิชาการต่อฝ่ายตรงข้ามทางวิชาการ หรือฝ่ายที่เห็นไม่ตรงกันในเรื่องทัศนะ ซึ่งแน่นอนว่าความขัดแย้งย่อมไม่ใช่ความเมตตาดังนี้หลายคนมักอ้างกัน แต่ในทางตรงกันข้ามมันคือความวิบัติแน่นอน  เมื่อเป็นเช่นนี้การป้องกันการตะอัซซุบมากที่สุดคือการจำนนต่อหลักฐานนั้นเอง  นี้คือลักษณะของชาวซุนนะฮฺที่ไม่ยึดติดอย่างหูตาบอด กล่าวคือหากผู้รู้ในญามาอะฮฺของตนมีทัศนะต่อเรื่องหนึ่งอย่างนี้ แล้วผู้รู้อีกญามาอะฮฺหนึ่งมีทัศนะที่แตกต่างกัน  หากผู้รู้ท่านใดนำหลักฐานซึ่งหักล้างทัศนะหนึ่งอย่างสิ้นเชิง  วายิบที่ทุกคนจะต้องยอมจำนนต่อหลักฐานที่ถูกต้องกว่า หากยังหลับหูหลับตายึดทัศนะของเชคตัวเองซึ่งถูกหักล้างอย่างสิ้นเชิงอยู่ นั้นแหละครับถือว่าเป็นการตะอัซซุบอย่างแท้จริง

ในประเด็นการไม่ยึดติด ไม่ว่าจะในเรื่องการทำงานในญามาอะฮฺต่างๆ หรือเรื่องหลักการทางศาสนาๆต่าง ฉันเห็นว่า ไม่ได้หมายความว่า ไม่เอาอุลามาอฺอย่างแน่นอน  และการไม่ยึดติดไม่ได้เป็นอันตรายอย่างแน่นอน เพราะการไม่ยึดติด ในความเข้าใจของฉันหมายถึง การไม่ยึดติดที่ตัวอุลามาอฺ แต่ให้พิจารณาสิ่งที่อุลามาอฺนำมาต่างหาก ซึ่งนี้คือความหยืดหยุ่นที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเอง

ส่วนสิ่งที่เกิดขึ้นในกลุ่มทำงานปัจจุบัน ข้าพเจ้าไม่อาจพูด ได้ว่าเป็นเพราะเหตุใด  เพราะต้องการให้มาตามเชคของตัวเอง หรือเพราะต้องการให้มาเข้าร่วมญามาอะฮฺของตัวเอง เพราะ………  (อีกมากมายอย่างที่ผู้รู้บางท่านสันนิษฐานไว้)  ข้าพเจ้ากล่าวได้แค่ว่า ข้าพเจ้าไม่อาจทราบได้ เพราะข้าพเจ้าไม่อาจแขวะหัวใจใครดูได้  และข้าพเจ้าเห็นว่าการตั้งข้อสันนิษฐานเยี่ยงนี้ ไม่ควรเกิดขึ้นและเป็นการนึกคิดที่ไม่ถูกต้อง เพราะไม่ควรที่มุสลิมจะสงสัยพี่น้องของเขาในทางที่ไม่ดี 
  วัลลอฮฺอะลัม
8 ธันวาคม 2554

วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

สิ่งซึ่งอยู่เบื้องหลังหัจญ์



 

ซาเล็ม  บุญมาศ
กลุ่มอัซซาบิกูน
    
     การประกอบพิธีหัญจ์เป็นบทบัญญัติหนึ่งซึ่งมุสลิมต้องปฏิบัติตามที่ตนมีความสามารถ อัลลอฮ์ อัซซะวะญัล กล่าวไว้ในเรื่องการประกอบพิธีหัจญ์ว่า 

وَأَذِّن فِي النَّاسِ بِالْحَجِّ يَأْتُوكَ رِجَالًا وَعَلَىٰ كُلِّ ضَامِرٍ يَأْتِينَ مِن كُلِّ فَجٍّ عَمِيقٍ

     และจงประกาศแก่มนุษย์ทั่วไปเพื่อการทำหัจญ์ พวกเขาจะมาหาเจ้าโดยทางเท้า และโดยทางอูฐเพรียวทุกตัว จะมาจากทางไกลทุกทิศทาง (อัลหัจญ์ : 27)

وَأَتِمُّوا الْحَجَّ وَالْعُمْرَةَ لِلَّـهِ ۚ فَإِنْ أُحْصِرْتُمْ فَمَا اسْتَيْسَرَ مِنَ الْهَدْيِ ۖ وَلَا تَحْلِقُوا رُءُوسَكُمْ حَتَّىٰ يَبْلُغَ الْهَدْيُ مَحِلَّهُ ۚ فَمَن كَانَ مِنكُم مَّرِيضًا أَوْ بِهِ أَذًى مِّن رَّأْسِهِ فَفِدْيَةٌ مِّن صِيَامٍ أَوْ صَدَقَةٍ أَوْ نُسُكٍ ۚ فَإِذَا أَمِنتُمْ فَمَن تَمَتَّعَ بِالْعُمْرَةِ إِلَى الْحَجِّ فَمَا اسْتَيْسَرَ مِنَ الْهَدْيِ ۚ فَمَن لَّمْ يَجِدْ فَصِيَامُ ثَلَاثَةِ أَيَّامٍ فِي الْحَجِّ وَسَبْعَةٍ إِذَا رَجَعْتُمْ ۗ تِلْكَ عَشَرَةٌ كَامِلَةٌ ۗ ذَٰلِكَ لِمَن لَّمْ يَكُنْ أَهْلُهُ حَاضِرِي الْمَسْجِدِ الْحَرَامِ ۚ وَاتَّقُوا اللَّـهَ وَاعْلَمُوا أَنَّ اللَّـهَ شَدِيدُ الْعِقَابِ
    
     และพวกเจ้าจงให้สมบูรณ์ ซึ่งการทำหัจญ์ และการทำอุมเราะฮ์เพื่ออัลลอฮ์เถิด แล้วถ้าพวกเจ้าถูกสกัดกั้นก็ให้เชือดสัตว์พลีที่หาได้ง่าย และจงอย่าโกนศีรษะของพวกเจ้า จนกว่าสัตว์พลีนั้นจะถึงที่ของมัน แล้วผู้ใดในหมู่พวกเจ้าป่วยลง หรือที่เขามีสิ่งก่อความเดือดร้อนจากศรีษะของเขาก็ให้มีการชดเชย อันได้แก่การถือศีลอด หรือการทำทาน หรือการเชือดสัตว์ ครั้นเมื่อพวกเจ้าปลอดภัยแล้ว ผู้ใดที่แสวงหาประโยชน์จนกระทั่งถึงฮัจญ์ด้วยการทำอุมเราะฮ์แล้ว ก็ให้เชือดสัตว์พลีที่หาได้ง่าย ผู้ใดที่หาไม่ได้ ก็ให้ถือศีลอดสามวันในระหว่างการทำหัจญ์ และอีกเจ็ดวันเมื่อพวกเจ้ากลับบ้านนั่นคือครบสิบวัน ดังกล่าวนั้น สำหรับที่ครอบครัวของเขามิได้ประจำอยู่ที่อัล-มัสยิดิลฮะรอม และพวกเจ้าจงยำเกรงอัลลอฮ์เถิด และพึงรู้ด้วยว่า แท้จริงอัลลอฮ์นั้นเป็นผู้ทรงลงโทษที่รุนแรง (บากอเราะฮ์ : 196)
     จากท่านอิบนุอุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ กล่าวว่า : ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า : 
«بُنِيَ الْإِسْلَامُ عَلَى خَمْسٍ، شَهَادَةِ أَنْ لَا إِلَهَ إِلَّا اللهُ وَأَنَّ مُحَمَّدًا رَسُولُ الله، وَإِقَامِ الصَّلَاةِ وَإِيتَاءِ الزَّكَاةِ وَالْحَجِّ وَصَوْمِ رَمَضَانَ»
   
      อิสลามนั้นวางอยู่บนพื้นฐานหลักห้าประการ คือ การปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากองค์อัลลอฮฺ และมุหัมมัดคือศาสนทูตของพระองค์ การดำรงไว้ซึ่งการละหมาด การจ่ายซะกาต การประกอบพิธีหัจญ์ และการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน” (บันทึกโดย อิมามบุคอรีย์  อิมามมุสลิม)
     นอกจากหัจญ์จะเป็นหลักการซึ่งถูกกำหนดไว้เพื่อให้มุสลิมที่มีความสามารถพร้อมในทุกๆด้านปฏิบัติแล้ว หัจญ์ยังมีวิทยาปัญญา(หรือภาษาอรับว่า ฮิกมะ) ซึ่งอยู่เบื้องหลักศาสนกิจอันยิ่งใหญ่อันนี้ ได้แก่
-หัจญ์สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นเอกภาพ ภราดรภาพ ความเป็นพี่น้องหนึ่งเดียวของประชาคมมุสลิม กล่าวคือ ศาสนาอิสลามมีคำสอนว่ามุสลิมคือพี่น้องกัน ในอดีตของอิสลามภาพความเป็นพี่นอ้งระหว่างมุสลิมฉายภาพออกมาอย่างชัดเจนผ่านการต่อสู้ร่มกันของมุสลิมในนามของนครรัฐมดีนะฮ์ซึ่งมีท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมเป็นผู้นำรัฐ แต่สภาพแวดล้อมของโลกปัจจุบันซึ่งกว้างใหญ่และมีประเทศมากมายที่มุสลิมอาศัยอยู่ซึ่งทำให้ภาพของความเป็นพี่น้องของมุสลิมพร่ามัวลงไปมาก อย่างไรก็ตามหัจญ์ยังคงฉายภาพความเป็นพี่น้องของมุสลิมอย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้ กล่าวคือ มุสลิมทุกเชื้อชาติ ทุกสีผิว มารวมตัวกันด้วยสายเชือกแห่งอิสลาม

     หากจะกล่าวในเชิงปรัชญาการเมืองสมัยใหม่ซึ่งประเทศต่างๆโลกปัจจุบันถูกจำกัดอธิปไตยของตนเองเหนือเส้นเขตแดน (territory) หรือระบบรัฐชาตินั้นเอง (Nation State) แต่สำหรับปรัชญาการเมืองอิสลามซึ่งก็คือระบอบคอลีฟะฮ์แห่งอุมมะฮ์อิสลามียะฮ์(ประชาชาติอิสลามทั้งปวง) ระบอบดังกล่าวนี้มีปรัชญาอธิปไตยเหนืออุมอะฮ์(Ummah) กล่าวคือ อิสลามมองว่าอธิปไตยแห่งรัฐอิสลามจะไม่ถูกจำกัดด้วยความเป็นรัฐสมัยใหม่แต่อำนาจอธิปไตยแห่งรับอิสลามจะต้องเหนืออุมมะฮ์ทั้งปวง
     ในปัจจุบันหลังยุคเวสฟาเลีย[1]มุสลิมถูกแบ่งออกเป็นหลากหลายกลุ่มในหลายๆประเทศ ประกอบกับอิสลามปราศจากคอลีฟะฮ์หลังจากอาณาจักรอุษมานียะฮ์(ออตโตมัน)ล่มสลายกลายเป็ยสาธารณรัฐตุรกีและรัฐเล็กๆต่างๆ ส่งผลให้ภาพแห่งอธิปไตยเหนืออุมมะฮ์ถูกแทนที่ด้วยอธิปไตยเหนือดินแดนของความเป็นรัฐสมัยใหม่อย่างสิ้นเชิง
     อย่างไรก็ตามในการประกอบพิธีหัจญ์ ณ มหานครศักดิ์สิทธิ์มักกะฮ์และมดีนะฮ์ ประเทศซาอุดิอารเบีย (ขออัลลอฮ์ประทานความจำเริญแก่ฮารอมัยน์และดินแดนอารเบีย) สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นพี่น้องซึ่งมารวมตัวกันจากทั่วทุกสารทิศทอย่างปราศจากการถูกจำกัดจากระบอบรัฐสมัยใหม่อย่างสิ้นเชิง

อัลลอฮ์ อัซซะวะญัล กล่าวว่า
إِنَّمَا الْمُؤْمِنُونَ إِخْوَةٌ

แท้จริงบรรดาผู้ศรัทธานั้นเป็นพี่น้องกัน (หุญรอต : 10)


-หัจญ์แสดงให้เห็นถึงความเสมอภาคของมุสลิมทุกคนเพราะอิสลามปฏิเสธระบบที่วางอยู่บนความ ไม่เท่าเทียมกันของมนุษย์ อันได้แก่ ระบบวรรณะ ศักดินา ความแตกต่างด้านชาติพันธุ์หรือสีผิว ปราศจากเหลื่อมล้ำระหว่างมนุษย์ด้วยกัน ชนผิวขาวกับชนผิวดำ นายหรือบ่าวไพร่ เจ้าหน้าที่
หรือประชาราษฎร์ ทุกคนจะอยู่ในฐานะที่เท่าเทียมกันหมด เมื่อผู้ประกอบพิธีหัจญ์เริ่มตั้งใจ
อิหฺรอมที่มิก็อต[2] โดยการนุ่ง1ผืน ห่มกาย 1ผืน ด้วยผ้าขาวสองผืนนี้ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใครก็ตามซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเท่าเทียมกันอย่างเป็นรูปธรรมที่สุด ภาพที่ผู้อ่านมเห็นเป็นประจำคือการที่มุสลิมทุกเชื้อชาติ ทุกสีผิวภายใต้ผ้าขาวของผืนมารวมตัวเป็นหนึ่งเดียวกัน ณ มีกอตเพื่อหลอมรวมเข้าสู่การประกอบพิธีหัจญ์อย่างพร้อมเพรียงกันและเท่าเทียมกัน


 قَالَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ : إِنَّ اللَّهَ لَا يَنْظُرُ إِلَى صُوَرِكُمْ وَأَمْوَالِكُمْ وَلَكِنْ يَنْظُرُ إِلَى قُلُوبِكُمْ وَأَعْمَالِكُمْ                           
    
     รายงานจากอบีฮุรอยเราะฮฺ  เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ กล่าวว่า ท่านร่อซูลลุลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า แท้จริง อัลลอฮไม่ทรงพิจารณาที่รูปโฉมของพวกท่าน และทรัพย์สินของพวกท่าน แต่พระองค์จะทรงพิจารณาที่หัวใจของพวกท่าน และการกระทำของพวกท่าน   ( บันทึกโดยอิมามมุสลิม )

-หัจญ์เป็นการแสดงออกซึ่งรูปธรรมและนัยยะแห่งสันติภาพอย่างมีเหตุผลของศาสนาอิสลาม อันได้แก่ ดินแดนที่ใช้ประกอบพิธีหัจญ์ คือ มหานครศักดิ์สิทธิ์มักกะฮ์และมดีนะฮ์ ประเทศซาอุดิอารเบีย (ขออัลลอฮ์ประทานความจำเริญแก่ฮารอมัยน์และดินแดนอารเบีย) หรือเรียกว่า ฮารอมัยน์ ซึ่งมีความหมายว่า ดินแดนต้องห้ามทั้งสอง เพราะอัลลอฮ์ห้ามหลั่งเลือด(สงคราม)และการทำลายต่างๆในดินแดนแห่งสันติภาพทั้งสองนี้ นอกจากนี้ในช่วงเวลาของการทำหัจญ์ห้ามกระทำในสิ่งซึ่งเป็นการทำลายต่างๆ 
     อัลลอฮ์อัซซะวะญัล กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า

فِي كِتَابِ اللَّـهِ يَوْمَ خَلَقَ السَّمَاوَاتِ وَالْأَرْضَ مِنْهَا أَرْبَعَةٌ حُرُمٌ ۚ ذَٰلِكَ الدِّينُ الْقَيِّمُ ۚ فَلَا تَظْلِمُوا فِيهِنَّ أَنفُسَكُمْ

      ในคัมภีร์ของอัลลอฮ์ตั้งแต่วันที่พระองค์ทรงสร้างบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดินจากเดือนเหล่านั้นมีสี่เดือน ซึ่งเป็นเดือนที่ต้องห้าม[3]นั่นคือบัญญัติอันเที่ยงตรง ดังนั้นพวกเจ้าจงอย่าอธรรมแก่ตัวของพวกเจ้าเองในเดือนเหล่านั้น (อัตเตาบะ : 36)

-หัจญ์เป็นการกระตุ้นให้อุมมะฮ์ในยุคปัจจุบันได้ระลึกถึงเรื่องราวของสลัฟ อัศศอและห์ (กัลยาชนมุสลิมรุนแรก) ในการต่อสู้ ความพร้อมเพรียงกัน และความสำคัญในการก่อสร้างรัฐอิสลามแห่งมดีนะฮ์ผ่านซอฮิฟาตุลมดีนะฮ์(Madinah Charter ) ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญร่วมกันในการปกครอง นอกจากนี้ในอดีตคอลีฟะฮ์ อัรรอชิดีน (ผู้ปกครองอิสลามอันทรงธรรม)และคอลีฟะฮ์แห่งยุคที่อิสลามยิ่งใหญ่ทั้งสิ้น 12 ท่าน[4]   ยังใช้โอกาสที่มุสลิมจากทุกดินแดนที่อิสลามปกครองมาประกอบพิธีหัจญ์ กล่าวคุตบะ (เทศนาใหญ่ ถ้าเปรียบเปรียบปัจจุบันได้แก่การที่ผู้ปกครองกล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้าประชาชนกับแสนนั้นเอง) นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ประชาชนในดินแดนห่างไกลต่างๆถือโอกาสหลังเสร็จสิ้นเทศกาลหัจญ์โดยมีข้าหลวงทุกคนที่ถูกส่งไปปกครองแต่ละดินแดนเข้าร่วมรับฟังด้วย เพราะในอดีตคอลีฟะฮ์ได้ออกกฏให้ข้าหลวงทุกคนมาประกอบพิธีหัจญ์ร่วมกันทุกปีเพื่อสอบถามในเรื่องการปกครองดินแดนห่างไกลต่างๆ

     นอกจากประเด็นซึ่งผู้เขียนได้กล่าวข้างต้นแล้ว การประกอบพิธีหัจญ์ยังมีวิทยปัญญาที่อยู่เบื้องหลังอีกหลายประการซึ่งผู้เขียนมาอาจกล่าวได้ทั้งหมดเนื่องจากข้อจำกัดของหน้ากระดาษ อันได้แก่ การทำหัจญ์เป็นการขัดเกลาจิตวิญญาณแห่งความเป็นมุสลิม การขัดเกลามาทยาทอันดีงามต่อพี่น้องมุสลิมและผู้คนทั่วไป นอกจากนี้เป็นการเสียสละความสะดวกสบายและทรัพย์สินแห่งดุนยา(โลกนี้) เพื่อเป็นเสบียงไปสู่โลกอาคิเราะฮ์ (โลกหน้าอันนิรันดร์)

 จากท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ กล่าวว่า :

سمعت النبي صلى الله عليه وسلم يقول: «مَنْ حَجَّ ، فَلَـمْ يَرْفُثْ وَلَـمْ يَفْسُقْ، رَجَعَ كَيَومِ وَلَدَتْـهُ أُمُّهُ»

      ฉันได้ยินท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า ผู้ใดประกอบพิธีหัจญ์ โดยที่เขาไม่พูดจาหยาบโลน (หรือมีเพศสัมพันธ์) และไม่กระทำบาปความผิดใดๆ เขาจะกลับไปโดยที่เขา (ปราศจากบาป) ประดุจวันที่มารดาของเขาคลอดเขาออกมา” (บันทึกโดย อิมามบุคอรีย์และอิมามมุสลิม ) 

จากท่านอิบนุ มัสอูด เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ กล่าวว่า : ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า :

«تَابِعُوا بَيْنَ الحَجِّ وَالعُمْرَةِ، فَإنَّـهُـمَا يَنْفِيَانِ الفَقْرَ وَالذُّنُوبَ كَمَا يَنْفِي الكِيرُ خَبَثَ الحَدِيدِ وَالذَّهَبِ وَالفِضَّةِ، وَلَيْسَ لِلْـحَجَّةِ المَبْرُورَةِ ثَوَابٌ إلا الجَنَّةُ»              
    
     พวกท่านจงประกอบพิธีหัจญ์และอุมเราะฮฺอย่างต่อเนื่อง แท้จริงแล้วทั้งสองสิ่งนี้จะทำให้ปราศจากซึ่งความยากจนและบาปความผิด ประดุจดั่งการหลอมไฟที่ปัดเป่าส่วนที่ไม่ดีของเหล็ก ทองคำ และเงิน ซึ่งหัจญ์มับรูรฺ[5]ที่ถูกตอบรับนั้นจะมีผลบุญอื่นไปไม่ได้นอกเหนือจากสรวงสวรรค์ (บันทึกโดยอิมามอะหฺมัดและอิมามตัรมิซีย์)

ขออัลลอฮ์ตอบรับการประกอบพิธีหัจญ์ของพี่น้องมุสลิมทั้งปวง อามีน


[1] ยุคแห่งการเกิดรัฐสมัยใหม่
[2] จุดพรมแดนที่ผู้ประกอบพิธีหัจญ์ต้องตั้งใจและปฏิบัติตาม
เงื่อนไขของหัจญ์
[3] คือต้องห้ามในการต่อสู้กัน ทั้งนี้เพื่อให้เป็นเดือนที่ปลอดภัยแก่ผู้ประกอบพิธีอุมเราะฮ์ และพิธีหัจญ์ อันเป็นบัญญัติที่อัลลอฮ์ได้ทรงกำหนดไว้โดยผ่านท่านนะบีอิบรอฮีม และนะบีอิสมาอีล ซึ่งเดือนเหล่านั้นได้แก่เดือน ซุลเกาะดะฮ์ ซุลฮิจญะฮ์ อัล-มุฮัรรอม และเดือนร่อญับ 
[4] ได้แก่  อบูบักร, อุมัร, อุษมาน, อะลี, มุอาวิยะ, ยะซีด,  อับดุลมาลิก, วะลีด, สุลัยมาน, อุมัร บินอับดุลอะซีซ,  ยะซีด บินอับดุลมาลิก, ฮิซาม บินอับดุลมาลิก
[5] หัจญ์ที่ถูกต้องซึ่งถูกตอบรับจากอัลลอฮ์


วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2554

ความไร้น้ำยาของ UN : กรณีปาเลสไตน์ยื่นคำร้องขอเป็นรัฐภาคีสมาชิก




ความไร้น้ำยาของ UN  :  กรณีปาเลสไตน์ยื่นคำร้องขอเป็นรัฐภาคีสมาชิก
ซาเล็ม  บุญมาศ
กลุ่มอัซซาบิกูน
     

     การร้องขอเป็นรัฐภาคีสมาชิกของปาเลสไตน์ต่อองค์การสหประชาชาติ (United Nations) ในสัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งได้รับการคัดค้านอย่างแข็งขันของสหรัฐอเมริกาแทนที่จะเป็นอิสราเอลประหนึ่งราวกับว่าสหรัฐอเมรการคือคู่ขัดแย้งของปาเลสไตน์โดยตรง
     
     บทความขนาดสั้นซึ่งเขียนมาอย่างรวบรัดด้วยกับเวลากันจำกัดของผู้เขียนชิ้นนี้มุ่งเสนอในสามประเด็นสำคัญต่อไปนี้

ประเด็นที่หนึ่ง เหตุผลของพันธะทางกฏหมายที่มีต่อปาเลสไตน์หากการร้องขอครั้งนี้ประสบความสำเร็จซึ่งแน่นอนว่าเป็นไปในรูปแบบของกฏหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีเมือง ซึ่งคู่กรณีที่สำคัญที่สุดของปาเลสไตน์ก็คืออิสราเอล

ประเด็นที่สอง แสดงให้เห็นถึงเส้นทางที่เต็มไปด้วยความยากลำบากของปาเลสไตน์ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ

ประเด็นที่สาม แสดงให้เห็นถึงสิ่งซึ่งผู้เขียนตั้งชื่อบทความว่าเป็น ความไร้น้ำยาของยูเอ็น ซึ่งมีเป้าประสงค์ที่จะสร้างสันติภาพในดินแดนปาเลสไตน์ให้เกิดขึ้น 
     
     ปาเลสไตน์มีความประสงค์ที่จะร้องขอให้สมัชชาใหญ่สหประชาชาติมีมติรับรองปาเลสไตน์ให้มีสถานะเป็นรัฐภาคีสมาชิกของสหประชาชาติ ซึ่งหากปาเลสไตน์ประสบความสำเร็จ จะมีพันธะทางกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประเด็นประพาทกับอิสราเอล ในประเด็นต่อไปนี้ [1]

กฎบัตรสหประชาชาติ มาตรา4 (1) สมาชิกภาพแห่งสหประชาชาติ เปิดให้รัฐที่รักสันติภาพทั้งปวงซึ่งยอมรับอยู่ในข้อผูกพันที่มีอยู่ในกฏบัตรปัจจุบัน และในความวินิจฉัยขององค์การ มีความสามารถและเต็มใจที่จะปฏิบัติตามข้อผูกพันเหล่านี้  

กฎบัตรสหประชาชาติ มาตรา4 (2) การรับรัฐใดๆเช่นว่านั้นเข้าเป็นสมาชิกแห่งสหประชาชาติจะเป็นผลแต่มติของสมัชชาตามคำแนะนำของคณะมนตรีความมั่นคง
     
     จากข้อกฎหมายข้างต้น ประเด็นซึ่งผู้เขียนเน้นสีขยายความเพิ่มเติมตามกฏการประชุมเพื่อรับคำร้องขอการเป็นภาคีสมาชิกด้วยเงื่อนไขที่ว่า จะต้องได้คะแนนจากสมาชิกเก้าในสิบห้าและจะต้องไม่มีรัฐสมาชิกในประเทศที่เป็นคณะมนตรีความมั่นคงถาวรวีโต้ มิฉะนั้นให้ยกคำร้อง  นั้นหมายความว่า แม้ว่าปาเลสไตน์จะล็อบบี้ประเทศสมาชิกในคณะมนตรีความมั่นคงได้ตามคะแนนเสียงที่กำหนด หากแต่รัฐที่เป็นสมาชิกในคณะมนตรีความมั่นคงถาวรทั้งห้าประเทศอันได้แก่ สหรัฐฯ จีน ฝรั่งเศส อังกฤษ รัสเซีย  ประเทศใดประเทศหนึ่งวีโต้ มีผลให้คำร้องถูกยกไป
   
     คำถามคือว่าเพราะเหตุใดสหรัฐฯจึงขัดขวางการร้องขอเป็นรัฐภาคีสมาชิกของสหประชาชาติของปาเลสไตน์ ผู้เขียนขอแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมาว่าเพราะสหรัฐฯเลือกอยู่ข้างอิสราเอล จึงไม่สามารถทนดูให้ปาเลสไตน์ประสบความสำเร็จในการร้องขอครั้งนี้ได้ เพราะ

กฎบัตรสหประชาชาติ มาตรา93 (1) สมาชิกทั้งปวงของสหประชาชาติ โดยพฤตินัยเป็นภาคีแห่งธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

      จากข้อกฎหมายข้างต้นหมายความว่ารัฐที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติสามารถนำกรณีพิพาทที่เป็นกฏหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีเมือง ยื่นฟ้องต่อศาลโลกเพื่อให้มีคำวินิจฉัยในกรณีข้อพิพาทดังกล่าว
ธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ มาตรา34 (1) รัฐเท่านั้นที่จะเป็นคู่ความในคดีที่มาสู่ชั้นศาลได้
ธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ มาตรา35 (1) รัฐที่เป็นภาคีแห่งธรรมนูญนี้ สามารถนำคดีมาสู่ศาลได้
จากข้อกฎหมายข้างต้นรัฐที่ไม่ใช่ภาคีสมาชิก อาจไม่สามารถ นำคดีสู่ศาลโลกได้ เว้นแต่มีกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นซึ่งผู้เขียนจะกล่าวในหัวข้อถัดไป

ธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ มาตรา35 (2)  รัฐอื่นที่ไม่เป็นภาคีอาจนำคดีมาสู่ศาลโลกได้ในบทบัญญัติซึ่งซึ่งคณะมนตรีเป็นผู้กำหนด ทั้งนี้ภายใต้เงื่อนไขแห่งบทบัญญัติเศษที่ระบุไว้ในสนธิสัญญาที่ใช้บังคับ แต่เงื่อนไขดังกล่าวจะต้องไม่เป็นเหตุให้คู่ความอยู่ในฐานะอันไม่เท่าเทียมกันกันในการพิจารณาคดีของศาล
     
     จากข้อกฎหมายข้างต้นเมื่อพิจารณาประเด็นไปที่การฟ้องคดีแผนกคดีเมืองต่างๆขึ้นสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศของรัฐซึ่งไม่ใช่ภาคีเป็นไปได้โดยคำวินิจฉัยของคณะมนตรีซึ่งต้องปราศจากการวีโต้จากรัฐภาคีสมาชิกคณะมนตรีถาวรมิฉะนั้นข้อเสนอจะตกไป นี้คือความยากลำบากของปาเลสไตน์ในด่านแรก

ธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ มาตรา36 (1) (2) (ก) (ข) (ค)เขตอำนาจศาลมีอยู่เหนือคดีต่างๆทั้งหมด ซึ่งคู่ความอ้างถึงเรื่องต่างๆซึ่งถูกระบุไว้เป็นพิเศษในกฎบัตรสหประชาชาติ หรือสนธิสัญญาและอนุสัญญาต่างๆที่ใช้บังคับอยู่ด้วย
     รัฐที่เป็นภาคีสมาชิกแห่งธรรมนูญนี้อาจแถลงในเวลาใดๆได้ว่าตนยอมรับการบังคับของศาลโดยพฤกตินัยและโดยปราศจากข้อตกลงพิเศษซึ่งอำนาจศาลในความสัมพันธ์กับรัฐอื่นซึ่งยอมรับพันธกรณีอย่างเดียวกัน  เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับข้อพิพาททางกฎหมายมีดังนี้
ก ) การตีความทางสนธิสัญญา
ข ) ปัญหากฏหมายระหว่างประเทศ
ค ) การมีอยู่ของข้อเท็จจริงใดๆ ซึ่งหากพิจารณาแล้วจะเป็นการละเมิดพันธะกรณีระหว่างประเทศ
  
     จากข้อกฎหมายข้างต้นเห็นได้ว่าประเด็นการพิจารณาของศาลเป็นประเด็นกฎหมายระหว่างประเทศและสนธิสัญญาระหว่างประเทศทั้งสิ้น ประเด็นก็คือว่าปัญหาความขัดแย้งอิสราเอล ปาเลสไตน์ ไม่ใช่ข้อพิพาทในแง่สนธิสัญญาระหว่างประเทศ(เช่นกรณีประสาทเขาพระวิหารที่ทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายกัมพูชาต่างยึดสนธิสัญญาคนละฉบับกัน) แต่เป็นประเด็นความรุนแรง และดินแดนหรือแผนที่ที่เปลี่ยนแปลงจากการทำสงครามซึ่งแผนที่ไม่ถูกนับว่าเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ดังนั้นจึงอยู่นอกเขตอำนาจพิจารณาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ นี้คืออีกหนึ่งความยากลำบากของปาเลสไตน์


     ประเด็นทั้งหมดคือความยากลำบากของปาเลสไตน์ในแง่ของข้อกฎหมายระหว่างประเทศ นอกจากนี้สิ่งซึ่งเป็นความยากลำบากของปาเลสไตน์ในเวทีระหว่างประเทศตลอดมาคือความไร้น้ำยาของสหประชาชาติ แม้กระทั่งในเหตุการณ์ครั้งนี้ สหรัฐอเมริกาแสดงท่าทีอย่างแข็งขันที่จะวีโต้และพยายามลอบบี้ให้ลิ้วล้อที่เป็นประเทศในโอวาทของตนออกเสียงคัดค้านคำร้องขอของปาเลสไตน์ ซึ่งเรื่องดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสหรัฐอเมริกาเลือกข้างอิสราเอลโดยไม่คำนึงถึงเรื่องใดๆทั้งสิ้น เมื่อห้าสิบปีที่แล้วสหรัฐอเมริกาเคยมีนโยบายต่อปัญหาความขัดแย้งอิสราเอลปาเลสไตน์อย่างไร วันนี้ก็ยังคงมีนโยบายเช่นเดิม การที่องค์การสหประชาชาติซึ่งโดยนิตินัยแล้วเป็นองค์การระหว่างประเทศที่เป็นอิสระต่อการแทรกแซงกลับไม่สามารถสร้างความเป็นธรรมในระบบระหว่างประเทศได้
     
     ประเด็นของสหประชาชาติถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ที่ถูกแทรกแซงโดยสหรัฐอเมริกาอยู่บ่อยครั้ง เพียงแต่ว่าครั้งนี้เป็นการแทรกแซงที่ค่อนข้างน่าเกลียดอย่างที่สุด เพราะประเทศต่างๆเห็นควรว่าให้รับปาเลสไตน์เข้าเป็นภาคีสมาชิกเพื่อกระบวนการสร้างสันติภาพในปาเลสไตน์ด้วยวิธีทางการเมืองระหว่างประเทศแต่สหรัฐฯเลือกที่จะตัดโอกาสความเป็นไปได้ตั้งแต่แรกแล้ว  นี่คือความลิ้นสองแฉก (Double Standard) ของสหรัฐฯในกรณีความขัดแย้งอิสราเอล ปาเลสไตน์ซึ่งยังคงไม่เปลี่ยนแปลง
    
     เมื่อดูถึงความไร้จุดยืน ความอิหลักอิเหลื่อไม่สามารถสร้างกลไกที่เชื่อถือได้ในการระงับข้อพิพาทของสหประชาชาติเพราะการถูกแทรกแซงของสหรัฐอเมริกาอยู่บ่อยๆ (ซึ่งก็เป็นแบบนี้มาตลอด) ในที่สุดแล้วจะทำให้สหประชาชาติไม่มีความน่าเชื่อถือ ภาพของการเป็นองค์การระหว่างประเทศยิ่งลดน้อยลงทุกที หากสหประชาชาติยังคงทำตัวเป็นเพียงตัวละครหนึ่งของนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ สหประชาชาติควรปรับแก้ไขกฏบัตรเพื่อลดอำนาจของประเทศมหาอำนาจโดยเฉพาะกลุ่มทีเป็นคณะมนตรีถาวรทั้งห้าประเทศให้น้อยลง แม้จะหมายถึงเงินบริจาคที่น้อยลงก็ตาม 


[1] หมายเหตุ  ตรงข้อกฎหมายระหว่างประเทศผู้เขียนจะเน้นตัวเอียงหนา 

วันเสาร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2554

ตัวตน(ที่ไม่เคยเปลี่ยน)ของชาตินิยม


อานนท์  บุญมาศ
    
     แนวคิดชาตินิยมเป็นความคิดที่ยังคงมีชีวิตชีวาเสมอ ไม่ว่าโลกจะก้าวไปไกลเพียงใด ความคิดชาตินิยมหรือเชื้อชาตินิยมก็ยังอยู่ได้ตลอดมา ในทางการเมืองชาตินิยมซึ่งน่าจะตายจากไปจากการเข้าสู่โลกไร้พรมแดน แต่นั้นก็ดูเหมือนว่าโลกยังไม่เคยไร้พรมแดนจริงๆ  ในทางเศรษฐกิจมหภาค การประกาศ Washington Consensus และพร้อมๆกับการดำเนินนโยบายแบบ Neo liberalism แต่ในที่สุดแล้วดูเหมือนว่าแนวนโยบายดังกล่าวเป็นเพียงคำพูดกันโก้หรูเพื่อปลอบใจชาวโลกที่เพิ่งผ่านวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่มาเท่านั้นเอง
    
     แนวคิดประวัติศาสตร์ชาตินิยมซึ่งผู้เขียนจะกล่าวระหว่างชาตินิยมสยาม/ไทย และชาตินิยมปาตานี/ปัตตานี เป็นสำคัญในงานชิ้นนี้  แนวคิดชาตินิยมมีลักษณะสำคัญที่ไม่เคยเปลี่ยนและไม่มีวันเปลี่ยนได้เลย คือความเป็นเราในฐานะ Common Consciousness  ซึ่งยึดโยงเครือข่ายแห่งความคิดนี้ไว้ด้วยกัน และความไม่ใช่เรา/ความเป็นอื่น / Alieness  สองสิ่งสำคัญเป็นปฏิกิริยาที่จำเป็นต่อกันในการสถาปนาความคิดชาตินิยมที่แต่เดิมไม่เคยมีอยู่จริงมาก่อนเลย กล่าวคือเป็นการสถาปนาความเป็น Malayu Nationalism และในอีกแง่หนึ่งก็เป็นการสถาปนา Royal Siamese-Thai Nationalism
     
     กระบวนการดำเนินการสถาปนาความคิดทั้งสอง(และหมายรวมถึงชาตินิยมอื่นๆทั้งโลก)คือการเขียนประวัติศาสตร์ความเป็นเราซึ่งโดยส่วนมากเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลนั่นเอง  คำถามที่เกิดขึ้นกับประวัติศาสตร์ดังกล่าวคือ บาดแผลต่างๆเกิดขึ้นตอนไหน การตีความบาดแผลต่างๆถูกปรับเปลี่ยนไปตามการเวลาหรือไม่ และที่คำถามสำคัญที่สุดคือแล้วจะจัดการกับบาดแผลในอดีตที่เป็นความทรงจำในปัจจุบันอย่างไร
     
      เมื่อกล่าวถึงจุดนี้ผู้เขียนขอกล่าวทีละประเด็น ประเด็นแรกคือ ความทรงจำแห่งประวัติศาสตร์บาดแผลจริงๆแล้ว มันเป็นบาดแผลจริงหรือไม่หรือมันถูกทำให้เป็นบาดแผลภายหลัง  ประเด็นนี้คือสิ่งซึ่งชาญวิทย์ เกษตรศิริ วิจารณ์ไว้ว่าเป็นประวัติศาสตร์บกพร่องของชาตินิยม / Inadequate History  นั้นคือการตีความเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์อย่างบกพร่อง ผิดเพี้ยน และไม่มีการตระหนักในความเป็นจริงของประวัติศาสตร์ในขณะนั้นๆ ทั้งทีเพราะการตีความทั้งหมดอาศัยกรอบแห่งชาตินิยมอันคับแคบในการตีความ
     
      กรณีศึกษาทางประวัติศาสตร์ชาตินิยมทั้งของสยามและปาตานีเอง ได้แก่ ประวัติศาสตร์การเสียเมือง? (ผู้เขียนใช้เครื่องหมายคำถามเพราะตระหนักดีว่า การมองเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ดังกล่าวเป็นเพียงแค่มุมมองช่วงใดช่วงหนึ่ง อย่างน้อยที่สุดก็ช่วงที่ประวัติศาสตร์ดังกล่าวถูกเขียนขึ้น ป้องกันการผูกขาดความจริงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความคิดชาตินิยมอันคับแคบ)  คำถามของประวัติศาสตร์บาดแผลดังกล่าวคือการถูกตีความว่าเป็นบาดแผลเกิดขึ้นตอนไหน นี้เป็นเพียงประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้างขึ้นมาเท่านั้น เพราะในยุคเสียกรุงของฝ่ายชาตินิยมสยาม และยุคเสียเมืองของชาตินิยมมลายู โลกทัศน์ของทั้งกรุงและเมืองในสมัยนั้นพร่ามัวมาก ไม่มีคำว่ารัฐชาติและเส้นแดนเขต ความเป็นพลเมืองหรือประชากรมีลักษณะพร่ามัวมากในพื้นที่ชายขอบ กล่าวอย่างตรงไปตรงมา การเสียกรุงละการเสียเมืองเป็นเพียงการสูญเสียอำนาจของกษัตริย์เท่านั้น  ธงชัย วินิจจะกูล ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการตีความประวัติศาสตร์บกพร่องเช่นนี้ไว้ใน Siam Map วิทยานิพนธ์อันโด่งดังของเขาว่า ความสัมพันธ์ไม่มีแนวคิดองค์อธิปัตย์เหนือเส้นเขตแดนเพราะชนชั้นนำในอาณาจักรต่างๆในช่วงเวลาดังกล่าวตระหนักดีว่าดินแดนของตนเป็นประเทศราชที่ถูกครองครองโดยอาณาจักรอื่นๆหรือหลายอาณาจักรในช่วงเวลาเดียวกัน มีอาณาเขตไม่ชัดเจนและนับได้ว่ามีอิสระในการปกครองตนเอง แต่นักประวัติศาสตร์ยุคใหม่กลับไม่ตระหนักในความจริงข้อนี้
    
      ตัวตนที่ไม่เคยเปลี่ยนอีกอย่างหนึ่งของชาตินิยมคือการผูกโยงกับสถาบันบันเก่าแก่ของสังคม อันได้แก่ สถาบันกษัตริย์ วาทกรรมความเป็นเชื้อชาติเดียวกัน การผูกขาดศาสนาอย่างคับแคบ  ตัวอย่างเช่นชาตินิยมไทยซึ่งถูกเขียนให้ยึดโยงกับสถาบันกษัตริย์ กับความเป็นไทย นี้เป็นการผูกขาดความจริงทางประวัติศาสตร์อย่างร้ายแรง เพราะ ไม่มีนักประวัติศาสตร์หรือนักมานุษยวิทยาคนไหนที่ให้คำจำกัดความอย่างเป็นสากลได้ว่า ไทยหรือคนไทยหรือเชื้อชาติไทยคือใคร ความจริงก็คือว่าสยามมีหลายเชื้อชาติ และทุกเชื้อชาติที่อาศัยอยู่ในสยามไม่ใช่คนไทยตั้งแต่แรกแล้ว 
    
      ส่วนกรณีชาตินิยมมลายู ในแง่ของเชื้อชาติผู้เขียนยังไม่พบงานวิจัยทางประวัติศาสตร์หรือมานุษยวิทยาชิ้นใดที่จะปภิปรายถึงตัวตนของเชื้อชาติมลายูอย่างจริงจัง แต่ประเด็นที่แน่นอนซึ่งเป็นสิ่งซึ่ง ทวีศักดิ์ เผือกสม นัก(เรียน)ประวัติศาสตร์ ผู้สนใจทางด้านอินโด มาเลย์  กล่าวว่า  คนอินโดไม่เคยมีจิตสำนึกว่าตนเองเป็นชาวมลายู คนอินโดเข้าใจและเชื่อเสมอว่าตัวเองคือชาว(เชื้อชาติ)อินโด  ทั้งหมดคือประเด็นข้อถกเถียงอันไม่รู้จบในเรื่องของความคับแคบและความมั่ว/Mixed  ของเชื้อชาติ/ชาติพันธุ์ต่างๆ
     
      ลักษณะหนึ่งที่มาพร้อมกับความเป็นไทยหรือความเป็นมลายูนิยมคือความเป็นพุทธหรือความเป็นอิสลาม  ผู้เขียนเห็นว่าการใช้ศาสนาไม่ว่าศาสนาใดก็ตามมาเป็นเครื่องมือสนองความต้องการของชาตินิยมเป็นความคับแคบอันร้ายกาจที่สุด เพราะศาสนา(ไม่ว่าจะศาสนาไหน) สมควรที่จะมีสถานะเป็น Cosmopolitan ในแง่ของศาสนา ที่ใครก็มีสิทธิที่จะนับถือ  การใช้ศาสนาพุทธมาผูกขาดกับความเป็นคน(ที่อาศัยอยู่ในประเทศ)ไทย คำถามคือแล้วคนที่ไม่ได้นับถือพุทธ จะมีพื้นที่ตรงไหนในประเทศนี้  ในทางกลับกันการผูกขาดศาสนาอิสลาม(และการเรียกมลายูว่าภาษาอิสลาม)ของชาตินิยมมลายู คำถามคือแล้วมุสลิมที่ไม่ใช่คนมลายู(ซึ่งมีจำนวนมากกว่าคนมลายูเป็นพันเท่า) จะอยู่ตรงไหน นี้คือความคับแคบของชาตินิยม นี้คืออันตรายของการนำศาสนามาเป็น Discourse Strategy ของชาตินิยม  (ณ จุดนี้ผู้เขียนจะไม่ของอภิปรายในแง่ของหลักคำสอนของอิสลามเอง ที่ห้ามชาตินิยม หรือภาษาอาหรับเรียกว่า Asabiyah ไว้อย่างรุนแรง ทั้งในแง่ของมุมมองต่ออธิปไตย มุมมองต่อลักษณะเชื้อชาติ มุมมองของสิทธิความเป็นผู้นำ เป็นต้น)    
     
      บทความที่กล่าวมาทั้งหมดดูเหมือนว่าผู้เขียนจะมีปัญหากับแนวคิดชาตินิยม ซึ่งผู้เขียนขอบอกว่าผู้เขียนไม่ได้มีปัญหากับความคิดชาตินิยม เพราะโดยตัวของมันชาตินิยมไม่ได้สร้างปัญหา เพราะมันคงไม่มีอะไรมากมายหากชนชาติหนึ่งจะมีความทรงจำของตัวเองเป็นสิ่งซึ่ง เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน เรียกว่าเป็น The Biography of Nation  แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น(และไม่ใช่ผู้เขียนคนเดียวที่มีปัญหากับสิ่งนี้) คือความคับแคบของชาตินิยมต่างหาก ความคับแคบเหล่านี้ถูกผลิตผ่านกระบวนการสร้างประวัติศาสตร์บกพร่อง การตัดตอนทางประวัติศาสตร์ การผูกขาดความจริง และที่สำคัญที่สุดคือการที่นักชาตินิยม(ผู้รักชาติพันธุ์ตัวเองยิ่งชีพ)เหล่านี้ขาดไปคือชาตินิยมของความเป็นมนุษย์ด้วยกัน จนหลายครั้งหลายคราที่ชาตินิยมอันคับแคบได้กระทำในสิ่งซึ่งมนุษย์ไม่ควรกระทำต่อมนุษย์ด้วยกัน อย่างไม่มีข้อยกเว้นใดๆ
    
      สุดท้ายผู้เขียนไม่มีข้อสรุปใดๆ มีเพียงความหวังและเชื่อว่าเป็นไปได้อย่างแน่นอนเช่นเดียวกับ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ที่ยังคงมีความหวังที่จะเห็นชาตินิยมที่จะ Make Love not War เสมอมา โดยไม่คำนึงถึงอายุของท่านว่าจะล่วงเลยไปเท่าไรแล้ว  ท่านยังคงมีหวังอย่างไม่เปลี่ยนแปลง …..      


   หมายเหตุ บทความนี้เผยเเพร่ครั้งเเรกใน www.deepsouth.org   

วันจันทร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2554

สถาบันการศึกษาและปอเนาะ : อดีต-ปัจจุบัน

หมายเหตุ  บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งเเรกในวารสารสะมิอ์นา วาอะตออ์นา  ฉบับที่ 11


ปอเนาะในฐานะโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในปัจจุบันมีการปรับการเรียนการสอนให้ผู้เรียนมีความรู้ทางศาสนาและความรู้ทางสามัญเพื่อใช้ในการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจมองได้ว่าเป็นการปรับตัวอีกระดับหนึ่งของปอเนาะซึ่งในเรื่องนี้ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักวิชาการทางด้านสังคมศาสตร์มุสลิมคนสำคัญได้มองว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงสองทางที่ยังคงมีอยู่ กล่าวคืออิสลามศึกษามีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่เป็น Radical Science ปรับให้มีความสอดคล้องกับ Alterity มากขึ้น   ซึ่งการปรับเปลี่ยนตรงนี้ฉันมองว่าเกิดจากสองประเด็นหลัก ดังนี้
1.             การปรับเปลี่ยนเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับภาวะสังคมแวดล้อมและภาวะสมัยใหม่ของโลกปัจจุบันอย่างที่ชัยวัฒน์และนักวิชาการอื่นๆนำเสนอ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถออกไปศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาเพื่อประกอบวิชาชีพในอนาคตต่อไปได้
2.             การเปลี่ยนแปลงที่เกิดการโลกทัศน์ของผู้รู้ที่เปลี่ยนไป กล่าวคือ ตั้งแต่ช่วงปลายถึงช่วงกลางศตวรรษที่ 20 มีผู้รู้ที่จบมาจากดินแดนมุสลิมอื่นๆนอกจากฮารอมัยน์มากขึ้น ซึ่งได้แก่ อียิปต์  โมรอกโค มาเลเซีย หรือแม้กระทั่งในยุโรปหรืออเมริกาก็ตาม ซึ่งดินแดนเหล่านี้มีลักษณะ เปิดมากกว่าดินแดนฮารอมัยน์ จึงก่อให้เกิดโลกทัศน์แห่งความสมัยใหม่แก่ผู้รู้ที่กลับมา ซึ่งอาจเป็นแรงผลักดันหนึ่งที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในปัจจุบัน
      อย่างไรก็ตามฉันเห็นว่าการปรับเปลี่ยนพัฒนาของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในประเทศไทยปัจจุบันมีลักษณะที่มีความต้องการให้มีระบบการเรียนการสอนอิสลามและสามัญในแบบของประเทศมาเลเซียซึ่งนับว่าเป็นประเทศที่มีคุณภาพทางการศึกษาที่สูง ซึ่งแนวทางที่ถูกขับขานในปัจจุบันคืออิสลามาภิวัฒน์องค์ความรู้ .............

อ่านเเละดาวน์โหลดบทความทั้งหมดที่ http://www.4shared.com/document/CATi6ljZ/___online.html?   



วันพุธที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ประวัติศาสตร์การเมืองปาตานีเเนวใหม่ : มุมมองว่าด้วยความรุนเเรงภายใต้สภาวะสองรัฐ สองจินตนาการ


บทความนี้ไม่ใช่บทความศาสนา  เป็นบทความวิชาการสังคมศาสตร์ซึ่งเขียนตอนเรียนอยู่ปีสาม  นำเสนอในงานประชุมวิชาการทางสังคมวิทยาเเห่งชาติ  ในเดือนมิถุนายน 2553   ซึ่งสหายท่านหนึ่งเเนะนำให้เผยเเพร่ (เเนะนำไว้นานเเล้ว ตั้งเเต่เพิ่งนำเสนอเสร็จใหม่ๆ )

อ่านกด  http://www.4shared.com/document/h1RKRr5q/New_Patani_by_Anond.html?