วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2554

ความไร้น้ำยาของ UN : กรณีปาเลสไตน์ยื่นคำร้องขอเป็นรัฐภาคีสมาชิก




ความไร้น้ำยาของ UN  :  กรณีปาเลสไตน์ยื่นคำร้องขอเป็นรัฐภาคีสมาชิก
ซาเล็ม  บุญมาศ
กลุ่มอัซซาบิกูน
     

     การร้องขอเป็นรัฐภาคีสมาชิกของปาเลสไตน์ต่อองค์การสหประชาชาติ (United Nations) ในสัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งได้รับการคัดค้านอย่างแข็งขันของสหรัฐอเมริกาแทนที่จะเป็นอิสราเอลประหนึ่งราวกับว่าสหรัฐอเมรการคือคู่ขัดแย้งของปาเลสไตน์โดยตรง
     
     บทความขนาดสั้นซึ่งเขียนมาอย่างรวบรัดด้วยกับเวลากันจำกัดของผู้เขียนชิ้นนี้มุ่งเสนอในสามประเด็นสำคัญต่อไปนี้

ประเด็นที่หนึ่ง เหตุผลของพันธะทางกฏหมายที่มีต่อปาเลสไตน์หากการร้องขอครั้งนี้ประสบความสำเร็จซึ่งแน่นอนว่าเป็นไปในรูปแบบของกฏหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีเมือง ซึ่งคู่กรณีที่สำคัญที่สุดของปาเลสไตน์ก็คืออิสราเอล

ประเด็นที่สอง แสดงให้เห็นถึงเส้นทางที่เต็มไปด้วยความยากลำบากของปาเลสไตน์ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ

ประเด็นที่สาม แสดงให้เห็นถึงสิ่งซึ่งผู้เขียนตั้งชื่อบทความว่าเป็น ความไร้น้ำยาของยูเอ็น ซึ่งมีเป้าประสงค์ที่จะสร้างสันติภาพในดินแดนปาเลสไตน์ให้เกิดขึ้น 
     
     ปาเลสไตน์มีความประสงค์ที่จะร้องขอให้สมัชชาใหญ่สหประชาชาติมีมติรับรองปาเลสไตน์ให้มีสถานะเป็นรัฐภาคีสมาชิกของสหประชาชาติ ซึ่งหากปาเลสไตน์ประสบความสำเร็จ จะมีพันธะทางกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประเด็นประพาทกับอิสราเอล ในประเด็นต่อไปนี้ [1]

กฎบัตรสหประชาชาติ มาตรา4 (1) สมาชิกภาพแห่งสหประชาชาติ เปิดให้รัฐที่รักสันติภาพทั้งปวงซึ่งยอมรับอยู่ในข้อผูกพันที่มีอยู่ในกฏบัตรปัจจุบัน และในความวินิจฉัยขององค์การ มีความสามารถและเต็มใจที่จะปฏิบัติตามข้อผูกพันเหล่านี้  

กฎบัตรสหประชาชาติ มาตรา4 (2) การรับรัฐใดๆเช่นว่านั้นเข้าเป็นสมาชิกแห่งสหประชาชาติจะเป็นผลแต่มติของสมัชชาตามคำแนะนำของคณะมนตรีความมั่นคง
     
     จากข้อกฎหมายข้างต้น ประเด็นซึ่งผู้เขียนเน้นสีขยายความเพิ่มเติมตามกฏการประชุมเพื่อรับคำร้องขอการเป็นภาคีสมาชิกด้วยเงื่อนไขที่ว่า จะต้องได้คะแนนจากสมาชิกเก้าในสิบห้าและจะต้องไม่มีรัฐสมาชิกในประเทศที่เป็นคณะมนตรีความมั่นคงถาวรวีโต้ มิฉะนั้นให้ยกคำร้อง  นั้นหมายความว่า แม้ว่าปาเลสไตน์จะล็อบบี้ประเทศสมาชิกในคณะมนตรีความมั่นคงได้ตามคะแนนเสียงที่กำหนด หากแต่รัฐที่เป็นสมาชิกในคณะมนตรีความมั่นคงถาวรทั้งห้าประเทศอันได้แก่ สหรัฐฯ จีน ฝรั่งเศส อังกฤษ รัสเซีย  ประเทศใดประเทศหนึ่งวีโต้ มีผลให้คำร้องถูกยกไป
   
     คำถามคือว่าเพราะเหตุใดสหรัฐฯจึงขัดขวางการร้องขอเป็นรัฐภาคีสมาชิกของสหประชาชาติของปาเลสไตน์ ผู้เขียนขอแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมาว่าเพราะสหรัฐฯเลือกอยู่ข้างอิสราเอล จึงไม่สามารถทนดูให้ปาเลสไตน์ประสบความสำเร็จในการร้องขอครั้งนี้ได้ เพราะ

กฎบัตรสหประชาชาติ มาตรา93 (1) สมาชิกทั้งปวงของสหประชาชาติ โดยพฤตินัยเป็นภาคีแห่งธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

      จากข้อกฎหมายข้างต้นหมายความว่ารัฐที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติสามารถนำกรณีพิพาทที่เป็นกฏหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีเมือง ยื่นฟ้องต่อศาลโลกเพื่อให้มีคำวินิจฉัยในกรณีข้อพิพาทดังกล่าว
ธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ มาตรา34 (1) รัฐเท่านั้นที่จะเป็นคู่ความในคดีที่มาสู่ชั้นศาลได้
ธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ มาตรา35 (1) รัฐที่เป็นภาคีแห่งธรรมนูญนี้ สามารถนำคดีมาสู่ศาลได้
จากข้อกฎหมายข้างต้นรัฐที่ไม่ใช่ภาคีสมาชิก อาจไม่สามารถ นำคดีสู่ศาลโลกได้ เว้นแต่มีกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นซึ่งผู้เขียนจะกล่าวในหัวข้อถัดไป

ธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ มาตรา35 (2)  รัฐอื่นที่ไม่เป็นภาคีอาจนำคดีมาสู่ศาลโลกได้ในบทบัญญัติซึ่งซึ่งคณะมนตรีเป็นผู้กำหนด ทั้งนี้ภายใต้เงื่อนไขแห่งบทบัญญัติเศษที่ระบุไว้ในสนธิสัญญาที่ใช้บังคับ แต่เงื่อนไขดังกล่าวจะต้องไม่เป็นเหตุให้คู่ความอยู่ในฐานะอันไม่เท่าเทียมกันกันในการพิจารณาคดีของศาล
     
     จากข้อกฎหมายข้างต้นเมื่อพิจารณาประเด็นไปที่การฟ้องคดีแผนกคดีเมืองต่างๆขึ้นสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศของรัฐซึ่งไม่ใช่ภาคีเป็นไปได้โดยคำวินิจฉัยของคณะมนตรีซึ่งต้องปราศจากการวีโต้จากรัฐภาคีสมาชิกคณะมนตรีถาวรมิฉะนั้นข้อเสนอจะตกไป นี้คือความยากลำบากของปาเลสไตน์ในด่านแรก

ธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ มาตรา36 (1) (2) (ก) (ข) (ค)เขตอำนาจศาลมีอยู่เหนือคดีต่างๆทั้งหมด ซึ่งคู่ความอ้างถึงเรื่องต่างๆซึ่งถูกระบุไว้เป็นพิเศษในกฎบัตรสหประชาชาติ หรือสนธิสัญญาและอนุสัญญาต่างๆที่ใช้บังคับอยู่ด้วย
     รัฐที่เป็นภาคีสมาชิกแห่งธรรมนูญนี้อาจแถลงในเวลาใดๆได้ว่าตนยอมรับการบังคับของศาลโดยพฤกตินัยและโดยปราศจากข้อตกลงพิเศษซึ่งอำนาจศาลในความสัมพันธ์กับรัฐอื่นซึ่งยอมรับพันธกรณีอย่างเดียวกัน  เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับข้อพิพาททางกฎหมายมีดังนี้
ก ) การตีความทางสนธิสัญญา
ข ) ปัญหากฏหมายระหว่างประเทศ
ค ) การมีอยู่ของข้อเท็จจริงใดๆ ซึ่งหากพิจารณาแล้วจะเป็นการละเมิดพันธะกรณีระหว่างประเทศ
  
     จากข้อกฎหมายข้างต้นเห็นได้ว่าประเด็นการพิจารณาของศาลเป็นประเด็นกฎหมายระหว่างประเทศและสนธิสัญญาระหว่างประเทศทั้งสิ้น ประเด็นก็คือว่าปัญหาความขัดแย้งอิสราเอล ปาเลสไตน์ ไม่ใช่ข้อพิพาทในแง่สนธิสัญญาระหว่างประเทศ(เช่นกรณีประสาทเขาพระวิหารที่ทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายกัมพูชาต่างยึดสนธิสัญญาคนละฉบับกัน) แต่เป็นประเด็นความรุนแรง และดินแดนหรือแผนที่ที่เปลี่ยนแปลงจากการทำสงครามซึ่งแผนที่ไม่ถูกนับว่าเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ดังนั้นจึงอยู่นอกเขตอำนาจพิจารณาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ นี้คืออีกหนึ่งความยากลำบากของปาเลสไตน์


     ประเด็นทั้งหมดคือความยากลำบากของปาเลสไตน์ในแง่ของข้อกฎหมายระหว่างประเทศ นอกจากนี้สิ่งซึ่งเป็นความยากลำบากของปาเลสไตน์ในเวทีระหว่างประเทศตลอดมาคือความไร้น้ำยาของสหประชาชาติ แม้กระทั่งในเหตุการณ์ครั้งนี้ สหรัฐอเมริกาแสดงท่าทีอย่างแข็งขันที่จะวีโต้และพยายามลอบบี้ให้ลิ้วล้อที่เป็นประเทศในโอวาทของตนออกเสียงคัดค้านคำร้องขอของปาเลสไตน์ ซึ่งเรื่องดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสหรัฐอเมริกาเลือกข้างอิสราเอลโดยไม่คำนึงถึงเรื่องใดๆทั้งสิ้น เมื่อห้าสิบปีที่แล้วสหรัฐอเมริกาเคยมีนโยบายต่อปัญหาความขัดแย้งอิสราเอลปาเลสไตน์อย่างไร วันนี้ก็ยังคงมีนโยบายเช่นเดิม การที่องค์การสหประชาชาติซึ่งโดยนิตินัยแล้วเป็นองค์การระหว่างประเทศที่เป็นอิสระต่อการแทรกแซงกลับไม่สามารถสร้างความเป็นธรรมในระบบระหว่างประเทศได้
     
     ประเด็นของสหประชาชาติถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ที่ถูกแทรกแซงโดยสหรัฐอเมริกาอยู่บ่อยครั้ง เพียงแต่ว่าครั้งนี้เป็นการแทรกแซงที่ค่อนข้างน่าเกลียดอย่างที่สุด เพราะประเทศต่างๆเห็นควรว่าให้รับปาเลสไตน์เข้าเป็นภาคีสมาชิกเพื่อกระบวนการสร้างสันติภาพในปาเลสไตน์ด้วยวิธีทางการเมืองระหว่างประเทศแต่สหรัฐฯเลือกที่จะตัดโอกาสความเป็นไปได้ตั้งแต่แรกแล้ว  นี่คือความลิ้นสองแฉก (Double Standard) ของสหรัฐฯในกรณีความขัดแย้งอิสราเอล ปาเลสไตน์ซึ่งยังคงไม่เปลี่ยนแปลง
    
     เมื่อดูถึงความไร้จุดยืน ความอิหลักอิเหลื่อไม่สามารถสร้างกลไกที่เชื่อถือได้ในการระงับข้อพิพาทของสหประชาชาติเพราะการถูกแทรกแซงของสหรัฐอเมริกาอยู่บ่อยๆ (ซึ่งก็เป็นแบบนี้มาตลอด) ในที่สุดแล้วจะทำให้สหประชาชาติไม่มีความน่าเชื่อถือ ภาพของการเป็นองค์การระหว่างประเทศยิ่งลดน้อยลงทุกที หากสหประชาชาติยังคงทำตัวเป็นเพียงตัวละครหนึ่งของนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ สหประชาชาติควรปรับแก้ไขกฏบัตรเพื่อลดอำนาจของประเทศมหาอำนาจโดยเฉพาะกลุ่มทีเป็นคณะมนตรีถาวรทั้งห้าประเทศให้น้อยลง แม้จะหมายถึงเงินบริจาคที่น้อยลงก็ตาม 


[1] หมายเหตุ  ตรงข้อกฎหมายระหว่างประเทศผู้เขียนจะเน้นตัวเอียงหนา 

วันเสาร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2554

ตัวตน(ที่ไม่เคยเปลี่ยน)ของชาตินิยม


อานนท์  บุญมาศ
    
     แนวคิดชาตินิยมเป็นความคิดที่ยังคงมีชีวิตชีวาเสมอ ไม่ว่าโลกจะก้าวไปไกลเพียงใด ความคิดชาตินิยมหรือเชื้อชาตินิยมก็ยังอยู่ได้ตลอดมา ในทางการเมืองชาตินิยมซึ่งน่าจะตายจากไปจากการเข้าสู่โลกไร้พรมแดน แต่นั้นก็ดูเหมือนว่าโลกยังไม่เคยไร้พรมแดนจริงๆ  ในทางเศรษฐกิจมหภาค การประกาศ Washington Consensus และพร้อมๆกับการดำเนินนโยบายแบบ Neo liberalism แต่ในที่สุดแล้วดูเหมือนว่าแนวนโยบายดังกล่าวเป็นเพียงคำพูดกันโก้หรูเพื่อปลอบใจชาวโลกที่เพิ่งผ่านวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่มาเท่านั้นเอง
    
     แนวคิดประวัติศาสตร์ชาตินิยมซึ่งผู้เขียนจะกล่าวระหว่างชาตินิยมสยาม/ไทย และชาตินิยมปาตานี/ปัตตานี เป็นสำคัญในงานชิ้นนี้  แนวคิดชาตินิยมมีลักษณะสำคัญที่ไม่เคยเปลี่ยนและไม่มีวันเปลี่ยนได้เลย คือความเป็นเราในฐานะ Common Consciousness  ซึ่งยึดโยงเครือข่ายแห่งความคิดนี้ไว้ด้วยกัน และความไม่ใช่เรา/ความเป็นอื่น / Alieness  สองสิ่งสำคัญเป็นปฏิกิริยาที่จำเป็นต่อกันในการสถาปนาความคิดชาตินิยมที่แต่เดิมไม่เคยมีอยู่จริงมาก่อนเลย กล่าวคือเป็นการสถาปนาความเป็น Malayu Nationalism และในอีกแง่หนึ่งก็เป็นการสถาปนา Royal Siamese-Thai Nationalism
     
     กระบวนการดำเนินการสถาปนาความคิดทั้งสอง(และหมายรวมถึงชาตินิยมอื่นๆทั้งโลก)คือการเขียนประวัติศาสตร์ความเป็นเราซึ่งโดยส่วนมากเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลนั่นเอง  คำถามที่เกิดขึ้นกับประวัติศาสตร์ดังกล่าวคือ บาดแผลต่างๆเกิดขึ้นตอนไหน การตีความบาดแผลต่างๆถูกปรับเปลี่ยนไปตามการเวลาหรือไม่ และที่คำถามสำคัญที่สุดคือแล้วจะจัดการกับบาดแผลในอดีตที่เป็นความทรงจำในปัจจุบันอย่างไร
     
      เมื่อกล่าวถึงจุดนี้ผู้เขียนขอกล่าวทีละประเด็น ประเด็นแรกคือ ความทรงจำแห่งประวัติศาสตร์บาดแผลจริงๆแล้ว มันเป็นบาดแผลจริงหรือไม่หรือมันถูกทำให้เป็นบาดแผลภายหลัง  ประเด็นนี้คือสิ่งซึ่งชาญวิทย์ เกษตรศิริ วิจารณ์ไว้ว่าเป็นประวัติศาสตร์บกพร่องของชาตินิยม / Inadequate History  นั้นคือการตีความเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์อย่างบกพร่อง ผิดเพี้ยน และไม่มีการตระหนักในความเป็นจริงของประวัติศาสตร์ในขณะนั้นๆ ทั้งทีเพราะการตีความทั้งหมดอาศัยกรอบแห่งชาตินิยมอันคับแคบในการตีความ
     
      กรณีศึกษาทางประวัติศาสตร์ชาตินิยมทั้งของสยามและปาตานีเอง ได้แก่ ประวัติศาสตร์การเสียเมือง? (ผู้เขียนใช้เครื่องหมายคำถามเพราะตระหนักดีว่า การมองเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ดังกล่าวเป็นเพียงแค่มุมมองช่วงใดช่วงหนึ่ง อย่างน้อยที่สุดก็ช่วงที่ประวัติศาสตร์ดังกล่าวถูกเขียนขึ้น ป้องกันการผูกขาดความจริงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความคิดชาตินิยมอันคับแคบ)  คำถามของประวัติศาสตร์บาดแผลดังกล่าวคือการถูกตีความว่าเป็นบาดแผลเกิดขึ้นตอนไหน นี้เป็นเพียงประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้างขึ้นมาเท่านั้น เพราะในยุคเสียกรุงของฝ่ายชาตินิยมสยาม และยุคเสียเมืองของชาตินิยมมลายู โลกทัศน์ของทั้งกรุงและเมืองในสมัยนั้นพร่ามัวมาก ไม่มีคำว่ารัฐชาติและเส้นแดนเขต ความเป็นพลเมืองหรือประชากรมีลักษณะพร่ามัวมากในพื้นที่ชายขอบ กล่าวอย่างตรงไปตรงมา การเสียกรุงละการเสียเมืองเป็นเพียงการสูญเสียอำนาจของกษัตริย์เท่านั้น  ธงชัย วินิจจะกูล ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการตีความประวัติศาสตร์บกพร่องเช่นนี้ไว้ใน Siam Map วิทยานิพนธ์อันโด่งดังของเขาว่า ความสัมพันธ์ไม่มีแนวคิดองค์อธิปัตย์เหนือเส้นเขตแดนเพราะชนชั้นนำในอาณาจักรต่างๆในช่วงเวลาดังกล่าวตระหนักดีว่าดินแดนของตนเป็นประเทศราชที่ถูกครองครองโดยอาณาจักรอื่นๆหรือหลายอาณาจักรในช่วงเวลาเดียวกัน มีอาณาเขตไม่ชัดเจนและนับได้ว่ามีอิสระในการปกครองตนเอง แต่นักประวัติศาสตร์ยุคใหม่กลับไม่ตระหนักในความจริงข้อนี้
    
      ตัวตนที่ไม่เคยเปลี่ยนอีกอย่างหนึ่งของชาตินิยมคือการผูกโยงกับสถาบันบันเก่าแก่ของสังคม อันได้แก่ สถาบันกษัตริย์ วาทกรรมความเป็นเชื้อชาติเดียวกัน การผูกขาดศาสนาอย่างคับแคบ  ตัวอย่างเช่นชาตินิยมไทยซึ่งถูกเขียนให้ยึดโยงกับสถาบันกษัตริย์ กับความเป็นไทย นี้เป็นการผูกขาดความจริงทางประวัติศาสตร์อย่างร้ายแรง เพราะ ไม่มีนักประวัติศาสตร์หรือนักมานุษยวิทยาคนไหนที่ให้คำจำกัดความอย่างเป็นสากลได้ว่า ไทยหรือคนไทยหรือเชื้อชาติไทยคือใคร ความจริงก็คือว่าสยามมีหลายเชื้อชาติ และทุกเชื้อชาติที่อาศัยอยู่ในสยามไม่ใช่คนไทยตั้งแต่แรกแล้ว 
    
      ส่วนกรณีชาตินิยมมลายู ในแง่ของเชื้อชาติผู้เขียนยังไม่พบงานวิจัยทางประวัติศาสตร์หรือมานุษยวิทยาชิ้นใดที่จะปภิปรายถึงตัวตนของเชื้อชาติมลายูอย่างจริงจัง แต่ประเด็นที่แน่นอนซึ่งเป็นสิ่งซึ่ง ทวีศักดิ์ เผือกสม นัก(เรียน)ประวัติศาสตร์ ผู้สนใจทางด้านอินโด มาเลย์  กล่าวว่า  คนอินโดไม่เคยมีจิตสำนึกว่าตนเองเป็นชาวมลายู คนอินโดเข้าใจและเชื่อเสมอว่าตัวเองคือชาว(เชื้อชาติ)อินโด  ทั้งหมดคือประเด็นข้อถกเถียงอันไม่รู้จบในเรื่องของความคับแคบและความมั่ว/Mixed  ของเชื้อชาติ/ชาติพันธุ์ต่างๆ
     
      ลักษณะหนึ่งที่มาพร้อมกับความเป็นไทยหรือความเป็นมลายูนิยมคือความเป็นพุทธหรือความเป็นอิสลาม  ผู้เขียนเห็นว่าการใช้ศาสนาไม่ว่าศาสนาใดก็ตามมาเป็นเครื่องมือสนองความต้องการของชาตินิยมเป็นความคับแคบอันร้ายกาจที่สุด เพราะศาสนา(ไม่ว่าจะศาสนาไหน) สมควรที่จะมีสถานะเป็น Cosmopolitan ในแง่ของศาสนา ที่ใครก็มีสิทธิที่จะนับถือ  การใช้ศาสนาพุทธมาผูกขาดกับความเป็นคน(ที่อาศัยอยู่ในประเทศ)ไทย คำถามคือแล้วคนที่ไม่ได้นับถือพุทธ จะมีพื้นที่ตรงไหนในประเทศนี้  ในทางกลับกันการผูกขาดศาสนาอิสลาม(และการเรียกมลายูว่าภาษาอิสลาม)ของชาตินิยมมลายู คำถามคือแล้วมุสลิมที่ไม่ใช่คนมลายู(ซึ่งมีจำนวนมากกว่าคนมลายูเป็นพันเท่า) จะอยู่ตรงไหน นี้คือความคับแคบของชาตินิยม นี้คืออันตรายของการนำศาสนามาเป็น Discourse Strategy ของชาตินิยม  (ณ จุดนี้ผู้เขียนจะไม่ของอภิปรายในแง่ของหลักคำสอนของอิสลามเอง ที่ห้ามชาตินิยม หรือภาษาอาหรับเรียกว่า Asabiyah ไว้อย่างรุนแรง ทั้งในแง่ของมุมมองต่ออธิปไตย มุมมองต่อลักษณะเชื้อชาติ มุมมองของสิทธิความเป็นผู้นำ เป็นต้น)    
     
      บทความที่กล่าวมาทั้งหมดดูเหมือนว่าผู้เขียนจะมีปัญหากับแนวคิดชาตินิยม ซึ่งผู้เขียนขอบอกว่าผู้เขียนไม่ได้มีปัญหากับความคิดชาตินิยม เพราะโดยตัวของมันชาตินิยมไม่ได้สร้างปัญหา เพราะมันคงไม่มีอะไรมากมายหากชนชาติหนึ่งจะมีความทรงจำของตัวเองเป็นสิ่งซึ่ง เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน เรียกว่าเป็น The Biography of Nation  แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น(และไม่ใช่ผู้เขียนคนเดียวที่มีปัญหากับสิ่งนี้) คือความคับแคบของชาตินิยมต่างหาก ความคับแคบเหล่านี้ถูกผลิตผ่านกระบวนการสร้างประวัติศาสตร์บกพร่อง การตัดตอนทางประวัติศาสตร์ การผูกขาดความจริง และที่สำคัญที่สุดคือการที่นักชาตินิยม(ผู้รักชาติพันธุ์ตัวเองยิ่งชีพ)เหล่านี้ขาดไปคือชาตินิยมของความเป็นมนุษย์ด้วยกัน จนหลายครั้งหลายคราที่ชาตินิยมอันคับแคบได้กระทำในสิ่งซึ่งมนุษย์ไม่ควรกระทำต่อมนุษย์ด้วยกัน อย่างไม่มีข้อยกเว้นใดๆ
    
      สุดท้ายผู้เขียนไม่มีข้อสรุปใดๆ มีเพียงความหวังและเชื่อว่าเป็นไปได้อย่างแน่นอนเช่นเดียวกับ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ที่ยังคงมีความหวังที่จะเห็นชาตินิยมที่จะ Make Love not War เสมอมา โดยไม่คำนึงถึงอายุของท่านว่าจะล่วงเลยไปเท่าไรแล้ว  ท่านยังคงมีหวังอย่างไม่เปลี่ยนแปลง …..      


   หมายเหตุ บทความนี้เผยเเพร่ครั้งเเรกใน www.deepsouth.org   

วันจันทร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2554

สถาบันการศึกษาและปอเนาะ : อดีต-ปัจจุบัน

หมายเหตุ  บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งเเรกในวารสารสะมิอ์นา วาอะตออ์นา  ฉบับที่ 11


ปอเนาะในฐานะโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในปัจจุบันมีการปรับการเรียนการสอนให้ผู้เรียนมีความรู้ทางศาสนาและความรู้ทางสามัญเพื่อใช้ในการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจมองได้ว่าเป็นการปรับตัวอีกระดับหนึ่งของปอเนาะซึ่งในเรื่องนี้ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักวิชาการทางด้านสังคมศาสตร์มุสลิมคนสำคัญได้มองว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงสองทางที่ยังคงมีอยู่ กล่าวคืออิสลามศึกษามีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่เป็น Radical Science ปรับให้มีความสอดคล้องกับ Alterity มากขึ้น   ซึ่งการปรับเปลี่ยนตรงนี้ฉันมองว่าเกิดจากสองประเด็นหลัก ดังนี้
1.             การปรับเปลี่ยนเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับภาวะสังคมแวดล้อมและภาวะสมัยใหม่ของโลกปัจจุบันอย่างที่ชัยวัฒน์และนักวิชาการอื่นๆนำเสนอ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถออกไปศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาเพื่อประกอบวิชาชีพในอนาคตต่อไปได้
2.             การเปลี่ยนแปลงที่เกิดการโลกทัศน์ของผู้รู้ที่เปลี่ยนไป กล่าวคือ ตั้งแต่ช่วงปลายถึงช่วงกลางศตวรรษที่ 20 มีผู้รู้ที่จบมาจากดินแดนมุสลิมอื่นๆนอกจากฮารอมัยน์มากขึ้น ซึ่งได้แก่ อียิปต์  โมรอกโค มาเลเซีย หรือแม้กระทั่งในยุโรปหรืออเมริกาก็ตาม ซึ่งดินแดนเหล่านี้มีลักษณะ เปิดมากกว่าดินแดนฮารอมัยน์ จึงก่อให้เกิดโลกทัศน์แห่งความสมัยใหม่แก่ผู้รู้ที่กลับมา ซึ่งอาจเป็นแรงผลักดันหนึ่งที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในปัจจุบัน
      อย่างไรก็ตามฉันเห็นว่าการปรับเปลี่ยนพัฒนาของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในประเทศไทยปัจจุบันมีลักษณะที่มีความต้องการให้มีระบบการเรียนการสอนอิสลามและสามัญในแบบของประเทศมาเลเซียซึ่งนับว่าเป็นประเทศที่มีคุณภาพทางการศึกษาที่สูง ซึ่งแนวทางที่ถูกขับขานในปัจจุบันคืออิสลามาภิวัฒน์องค์ความรู้ .............

อ่านเเละดาวน์โหลดบทความทั้งหมดที่ http://www.4shared.com/document/CATi6ljZ/___online.html?