วันอังคารที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

รูปแบบและการบริหารจัดการรัฐอิสลาม




บทคัดย่อ
     การวิจัยชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาทฤษฏีว่าด้วยรูปแบบและการบริหารจัดการรัฐอิสลาม โดยการศึกษารูปแบบและการจัดการรัฐอิสลามสมัยท่านศาสดามุฮัมมัด(ขอความสันติความเมตตามีแด่ท่าน)และยุคการปกครองแห่งคอลีฟะฮ์ อัรรอชีดีนทั้งสี่ท่าน นอกจากนี้ยังศึกษารูปแบบและการบริหารจัดการรัฐอิสลามในสมัยอุมัยยะฮ์ สมัยอับบาซียะฮ์ และสมัยอุษมานียะฮ์ โดยอาศัยการอ้างอิงแหล่งข้อมูลจากตำราประวัติศาสตร์อิสลามต่างๆ
     ผลการศึกษาพบว่าการจัดการรัฐอิสลามสมัยท่านศาสดามุฮัมมัด(ขอความสันติความเมตตามีแด่ท่าน)และยุคการปกครองแห่งคอลีฟะฮ์ อัรรอชีดีนทั้งสี่ท่าน เป็นรูปแบบที่มีความสมบูรณ์และเป็นแบบอย่างในการจัดการรัฐอิสลามในยุคต่อมาทั้งสามยุค อย่างไรก็ตามปรากฏว่าในยุคต่อมามีการปรับปรุงและการไม่นำหลักการซึ่งท่านศาสดามุฮัมมัด(ขอความสันติความเมตตามีแด่ท่าน)และยุคการปกครองแห่งคอลีฟะฮ์ อัรรอชีดีนทั้งสี่ท่านได้วางเอาไว้ ได้แก่ การสร้างระบบสันตติวงศ์เกิดขึ้น มีการปรับปรุงโครงสร้างและหน่วยงานต่างๆภายในรัฐซึ่งเป็นเสมือนดาบสองคม กล่าวคือ มีทั้งการก่อให้เกิดผลดีและการก่อให้เกิดความเสื่อมแก่รัฐอิสลามในเวลาต่อมา


บทที่ 1
บทนำ

หัวข้อวิจัย  รูปแบบและการบริหารจัดการรัฐอิสลาม
ความสำคัญและความเป็นมา
     หลังจากสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 1 อาณาจักรออตโตมันในฐานะอาณาจักรอิสลามที่มีคอลีฟะฮ์(กาหลิบ)เป็นผู้ปกครองรัฐในฐานะอาณาจักรอิสลามได้เข้าร่วมสงครามและพ่ายแพ้ในที่สุดซึ่งส่งผลให้ต้องทำสนธิสัญญาแซฟร์(Treaty of sevre) เป็นข้อบ่งชี้ถึงการสิ้นสุดของอาณาจักรออตโตมาน(อุษมานียะฮ์) ใน ค.. 1924 จึงนับเป็นปีแห่งการปิดฉากระบอบรัฐอิสลาม(คิลาฟะฮ์)ที่ดำรงอยู่มาเป็นระยะเวลา 13 ศตวรรษ(อาฟีส สาและ,2551:7)
     ในช่วงเวลาปัจจุบันถือเป็นช่วงเวลาที่อุมมะฮ์(ประชาชาติอิสลาม)ปราศจากรัฐบาลอิสลามที่เป็นหนึ่งเดียวอย่างเช่นในอดีต ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่เกิดวิกฤติรัฐอิสลามขึ้นเพราะหลังจากการสิ้นสุดยุคศาสดามุฮัมมัด(ขอความโปรดปรานและความสันติมีแด่ท่าน) รัฐอิสลามก็ดำเนินต่อเรื่อยมาผ่านการปกครองของคอลีฟะฮ์ อัรรอชิดีน(ผู้ปกครองซึ่งทรงคุณธรรม)ทั้งสี่ท่าน[1] ผ่านยุคแห่งอาณาจักรอุมัยยะฮ์ อาณาจักรอับบาซียะฮ์ อาณาจักรออตโตมัน(อุษมานียะฮ์) (ทวีศักดิ์ อุปมา,2552:103-112) ดังนั้นด้วยสาเหตุแห่งวิกฤติดังกล่าวจึงก่อให้เกิดกลุ่มขบวนการเพื่อการก่อตั้งรัฐอิสลาม
     ด้วยเหตุนี้เองผู้วิจัยจึงเห็นว่าหลังจากการล่มสลายของอาณาจักรออตโตมันได้มีขบวนการมากมายที่ดำเนินการเพื่อจุดประสงค์ในการสถาปนารัฐอิสลาม(คิลาฟะฮ์) ขึ้นมาอีกครั้งซึ่งผู้วิจัยเห็นว่ารายละเอียดเกี่ยวกับรูปแบบรัฐอิสลามจึงเป็นหัวข้อที่น่าสนใจในการวิจัย ซึ่งรัฐอิสลามเป็นรูปแบบรัฐที่มีพัฒนาการมาตลอดระยะเวลาที่ดำรงอยู่(จรัญ มะลูลีม,2541:156)
     ขบวนการเพื่อสถาปนารัฐอิสลาม(คิลาฟะฮ์) ถูกเรียกว่ากลุ่มฟื้นฟู (Islamic Revivalism)  นอกจากนี้ยังรู้จักกันในหลายๆชื่อ ได้แก่  กลุ่มอิสลามนิยม(Islamism) กลุ่มจารีตนิยม(Islamic Traditionalism) กลุ่มรากฐานนิยม(Islamic Fundamentalism) กลุ่มญิฮาดนิยม(Jihadism) เป็นต้น (อาฟีส สาและ,2551:7)
      กลุ่มฟื้นฟู (Islamic Revivalism) มีปรัชญาที่เหมือนๆกันในทุกๆกลุ่มนั้นคือปรัชญาแห่งผู้สืบทอดในเผ่นดิน(คอลีฟะตุลอัรด์) ซึ่งมีกล่าวไว้ในคัมภีร์อัลกรุอานและจากฮะดีษ[2]ไว้หลายครั้ง ได้แก่


     อัลลอฮ์ทรงสัญญากับบรรดาผู้ศรัทธาในหมู่พวกเจ้า และบรรดาผู้กระทำความดีทั้งหลายว่า แน่นอนพระองค์จะทรงให้พวกเขาเป็นตัวแทนสืบช่วงในแผ่นดิน เสมือนดังที่พระองค์ทรงให้บรรดาชนก่อนพวกเขา เป็นตัวแทนสืบช่วงมาก่อนแล้ว  และพระองค์จะทรงทำให้ศาสนาของพวกเขาซึ่งพระองค์ทรงโปรดปราน เป็นที่มั่นคงเป็นเกียรติแก่พวกเขา และแน่นอนพระองค์จะทรงเปลี่ยนแปลงให้พวกเขาได้รับความปลอดภัย หลังจากความกลัวของพวกเขา โดยที่พวกเขาจะต้องเคารพภักดีข้าไม่ตั้งภาคีอื่นใดต่อข้า และผู้ใดปฏิเสธศรัทธาหลังจากนั้น ชนเหล่านั้นพวกเขาคือผู้ฝ่าฝืน  (บทอันนูร: โองการ 55)




และส่วนหนึ่งจากผู้ที่เราได้บังเกิดนั้นคือ กลุ่มชนคณะหนึ่ง ซึ่งพวกเขาแนะนำด้วยความจริง และด้วยความจริงนั้น พวกเขาปฏิบัติด้วยความเที่ยงธรรม (บทอัลอะอ์รอฟ:โองการ 181)

     คำว่ากลุ่ม ชนคณะหนึ่ง ที่ถูกระบุในโองการนี้หมายถึงกลุ่มที่ถูกอธิบายในอะดีษอีกทอดหนึ่งว่าคือ กลุ่มแห่งชัยชนะ (อัฏฏออิฟะตุล อัลมันซูเราะฮ์) ซึ่งเป็นกลุ่มนักต่อสู้เพื่อฟื้นฟูอิสลามนั่นเอง (Ibn Khathir,2000:4/215-216) ดังนั้นจากท่านศาสดามุฮัมมัด(ขอความโปรดปรานและความสันติมีแด่ท่าน) ได้สิ้นชีวิตไป กลุ่มชนกลุ่มนี้จะสืบทอดภารกิจในการฟื้นฟูต่อไป(ทวีศักดิ์ อุปมา,2552:7) ดังปรากฏในฮะดีษหลายตัวบท ได้แก่

ความว่า: จะยังคงมี กลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง จากประชาชาติของฉันอย่างต่อเนื่อง โดยปรากฏอย่างชัดเจน[3] จนกระทั่งคำสั่งของอัลลอฮ์จะมาถึง[4]พวกเขา พวกเขาจะปรากฏอยู่อย่างชัดเจน
(รายงานโดยอิมามบูคอรี:เลขที่ฮะดีษ 3392)


ความว่า: จะยังคงมี กลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง จากประชาชาติของฉันอย่างต่อเนื่อง ได้ต่อสู้กับสัจธรรม อย่าง     ประจักษ์ชัดต่อผู้ที่ต่อต้านพวกเขา จนกระทั่งรุ่นหลังสุดของพวกเขาจะต่อสู้กับ มะสีฮ์ อัดดัจยาล[5]
     แนวคิดกลุ่มผู้ฟื้นฟูถูกอธิบายเพิ่มเติมจากปราชญ์ว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่วางอยู่บนเงื่อนไขของการเผยแพร่อิสลาม ตลอดช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์อิสลามซึ่งกลุ่มเหล่านี้ได้แก่ อิบนุตัยมิยะฮ์[6] อิบนุหะญัร อัล อัสเกาะลานี[7] วะลียุลลอฮ อัดดะละวีย์[8] อัชเชากานี[9] นุรุดดีน อัซซังกีย์[10] และซอลาฮุดดีน อัลอัยยูบีหรือที่รู้จักกันในนามซาลาดิน แม่ทัพแห่งมุสลิมในช่วงสงครามครูเสด(อัล -กอรฏอรวีย์,2001:15-22) เป็นต้น
    

วัตถุประสงค์ในการวิจัย
     1. เพื่อศึกษาปรัชญาของเพื่อการสถาปนารัฐอิสลาม(คิลาฟะฮ์) ขึ้นมาอีก  ครั้งโดยการศึกษาวิจัยหลักฐานต่างๆที่ได้รับมาจากอัลกรุอานและฮะดีษ
     2. นำทฤษฏีที่ได้จากข้างต้นไปอธิบายถึงผลต่ออุดมการณ์ ปรัชญาและแนวทางการดำเนินการและรูปแบบรัฐอิสลามต่างๆ
     3. เพื่อเปรียบเทียบรูปแบบรัฐอิสลามในแต่ละยุคสมัย

สมมุติฐานการวิจัย
     1. ปรัชญาและของรัฐอิสลามในแต่ละยุคสมัยมีความแตกต่างกัน  จึงส่งผลให้รูปแบบการดำเนินการแตกต่างกันไปด้วย
     2. รูปแบบการดำเนินการของรัฐอิสลามมีพัฒนาการและประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่แตกต่างกันในแต่ละยุคสมัย

ขอบเขตของการวิจัย
     ในการศึกษาวิจัยรายละเอียดและเปรียบเทียบความแตกต่างของรูปแบบรัฐอิสลาม(Khilafah state) ในยุคต่างๆ  ผู้วิจัยได้กำหนดขอบเขตของการวิจัย ดังต่อไปนี้
1.             ศึกษาตัวบทที่เป็นหลักฐานคำสอนของอิสลาม เพื่อกำหนดทฤษฏี กลุ่มฟื้นฟู ซึ่งสามารถนำไปอธิบายปรัชญาพื้นฐานของรัฐอิสลาม(Khilafah state) ในยุคสมัยต่างๆ โดยผู้วิจัยพยายามจัดเรียงองค์ประกอบของทฤษฏีดังกล่าวให้รัดกุมเพื่อความเข้าใจได้ง่ายมากที่สุด
2.             การศึกษาวิจัยรายละเอียดของรูปแบบรัฐอิสลามในสมัยต่างๆโดยใช้ต้นแบบของตัวบทที่ได้บัญญัติไว้เป็นหลัก

ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
     1. ก่อให้เกิดความเข้าใจในแนวคิดพื้นฐานของรัฐอิสลาม
     2. สามารถอธิบายการตีความที่แตกต่างหรือการยึดหลักฐานปลีกย่อยที่แตกต่างกันนักปราชญ์ในเรื่องรัฐอิสลาม
     3. สามารถอธิบายและเปรียบเทียบที่มาและความแตกต่างของรูปแบบรัฐอิสลามของทัศนะต่างๆได้

ข้อตกลงในการวิจัย
     1. การอ้างอิงที่นำมาจากเอกสารต่างๆ ผู้วิจัยจะอ้างโดยอ้างการเขียนแบบ นาม-ปี (Author-Date) นั่นคือมีรายชื่อผู้แต่ง ปีที่พิมพ์ และเลขหน้าอ้างอิงในเครื่องหมายวงเล็บ (……)
     2. คำอธิบายเพิ่มเติมของผู้วิจัยที่ช่วยในการทำความเข้าใจเนื้อหาของงานวิจัย ผู้วิจัยจะใช้การเขียนแบบเชิงอรรถ(Footnote) เช่นประวัติย่อบุคคล คำอธิบายศัพท์สำคัญ เป็นต้น
     3. การอ้างอิงตัวบทจากคัมภีร์อัลกรุอาน ผู้วิจัยจะอ้างอิงไว้ในวงเล็บ (…..) โดยระบุชื่อบทและตามด้วยการระบุโองการ
     4. การอ้างอิงจากฮะดีษ ผู้วิจัยจะอ้างอิงไว้ในวงเล็บ (…..) โดยระบุชื่อผู้บันทึกและตามด้วยเลขที่ฮะดีษ
     5. ผู้วิจัยจะใช้คำต่อท้ายจากชื่อของศาสดามุฮัมมัด ว่า (ขอความโปรดปรานและความสันติมีแด่ท่าน) ซึ่งเป็นความหมายมาจากคำสรรเสริญในภาษาอรับที่ว่า ศอลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม





นิยามศัพท์เฉพาะ
     1. อัลกรุอาน   หมายถึง คำดำรัสของอัลลอฮ์ที่ถูกเปิดเผยแก่ท่านศาสดามุฮัมมัด(ขอความโปรดปรานและความสันติมีแด่ท่าน) และได้ถูกรวบรวมและจัดลำดับเป็นรูปเล่มหลังจากท่านศาสดามุฮัมมัด(ขอความโปรดปรานและความสันติมีแด่ท่าน) เสียชีวิต
     2. ฮะดีษ   หมายถึง คำพูด การกระทำ การยอมรับของศาสดา ซึ่งได้รับการจดบันทึกและการตรวจสอบสายรายงานที่เชื่อถือได้
     3. บท   หมายถึง บทต่างๆในอัลกรุอาน มีทั้งสิ้น 114 บท ในภาษาอรับเรียก บท ว่า ซูเราะฮ์
     4. โองการ   หมายถึง ลำดับภายในบทหนึ่ง ในภาษาอรับเรียก โองการ ว่า อายะฮ์
     5. อัลลอฮ์ หมายถึง พระเจ้าที่แท้จริง ซึ่งเป็นภาษาอรับที่ใช้เรียกพระผู้สร้าสงสรรพสิ่ง ไม่มีสิ่งใดเสมอเหมือนพระองค์และพระองค์คู่ควรแก่การเคารพภักดีเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น

วิธีการดำเนินการวิจัย
     การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเอกสาร (Documentary Research) ในแบบพรรณาเชิงวิเคราะห์ (Analytical Description) โดยมีขั้นตอนการดำเนินการ ดังต่อไปนี้
1.             การทบทวนแหล่งข้อมูล
1.1      เอกสารขั้นปฐมภูมิ (Primary Source)
1.1.1                   หนังสืออธิบายความหมายอัลกรุอานเพื่อใช้ในการอธิบายโองการที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย
1.1.2                   หนังสืออธิบายความหมายฮะดีษเพื่อใช้ในการอธิบายฮะดีษที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย
1.2      เอกสารขั้นทุตยภูมิ
1.2.1                   เอกสารประวัติศาสตร์ที่ถูกบันทึกในยุคต่างๆของอิสลาม
1.2.2                   เอกสารและงานเขียนของกลุ่มฟื้นฟูหรือขบวนการเพื่อการสถาปนารัฐอิสลามต่างๆ
1.2.3                   เอกสารอ้างอิงในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยที่เขียนโดยนักวิชาการต่างๆ
     2.การรวบรวมข้อมูล
             2.1 ศึกษาความหมายของอัลกรุอานและคำอธิบายที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยจากหนังสืออรรถาธิบายต่างๆ
            2.2 ศึกษาความหมายของฮะดีษที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยจากหนังสืออธิบายฮะดีษและประวัติฮะดีษ เพื่อรวบรวมทัศนะไว้เป็นหมวดหมู่
           2.3 ศึกษางานเขียนที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยของนักวิชาการต่างๆ เพื่อรวบรวมทัศนะที่มีต่อขบวนการฟื้นฟูเพื่อสถาปนารัฐอิสลามต่างๆ และเปรียบเทียบทัศนะต่างๆ
    
     3.การวิเคราะห์ข้อมูล
          3.1 วิเคราะห์ตัวบทหลักฐานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยมาประกอบเป็นทฤษฏี โดยอาศัยการวิเคราะห์ของปราชญ์อิสลามในอดีตเคยเคยวิเคราะห์ไว้มาเป็นบรรทัดฐาน
          3.2 วิเคราะห์ความเหมือนและความแตกต่างของรัฐอิสลามซึ่งเป็นผลมาจากการตีความหลักฐานย่อยๆที่แตกต่างกัน
               3.3 วิเคราะห์เปรียบเทียบความแตกต่างของรัฐอิสลามซึ่งเป็นผลมาจากการตีความหลักฐานย่อยๆที่แตกต่างกัน









[1] ท่านอบูบักร์ ท่านอุมัร ท่านอุษมาน ท่านอะลี
[2] คำพูด การกระทำ การยอมรับของศาสดา ซึ่งได้รับการจดบันทึกและการตรวจสอบสายรายงานที่เชื่อถือได้
[3] สำนวนหมายถึงปรากฏชัยชนะ
[4] สำนวนหมายถึงจนกระทั่งวันสิ้นโลก
[5] มะสีฮ์ อัดดัจยาล เป็นฝ่ายต่อต้านที่ร้ายแรงที่สุดซึ่งท่านศาสดามุฮัมมัด(ขอความโปรดปรานและความสันติมีแด่ท่าน) ได้กล่าวเตือนเอาไว้
[6] ..1263-1328
[7] ..1372-1449
[8] ..1703-1763
[9] ..1760-1834
[10] ..1118-1174



ดาน์วโหลดวิจัยฉบับสมบูรณ์        http://www.4shared.com/document/RfN6eyw4/_online.html  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น