วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2554

ความไร้น้ำยาของ UN : กรณีปาเลสไตน์ยื่นคำร้องขอเป็นรัฐภาคีสมาชิก




ความไร้น้ำยาของ UN  :  กรณีปาเลสไตน์ยื่นคำร้องขอเป็นรัฐภาคีสมาชิก
ซาเล็ม  บุญมาศ
กลุ่มอัซซาบิกูน
     

     การร้องขอเป็นรัฐภาคีสมาชิกของปาเลสไตน์ต่อองค์การสหประชาชาติ (United Nations) ในสัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งได้รับการคัดค้านอย่างแข็งขันของสหรัฐอเมริกาแทนที่จะเป็นอิสราเอลประหนึ่งราวกับว่าสหรัฐอเมรการคือคู่ขัดแย้งของปาเลสไตน์โดยตรง
     
     บทความขนาดสั้นซึ่งเขียนมาอย่างรวบรัดด้วยกับเวลากันจำกัดของผู้เขียนชิ้นนี้มุ่งเสนอในสามประเด็นสำคัญต่อไปนี้

ประเด็นที่หนึ่ง เหตุผลของพันธะทางกฏหมายที่มีต่อปาเลสไตน์หากการร้องขอครั้งนี้ประสบความสำเร็จซึ่งแน่นอนว่าเป็นไปในรูปแบบของกฏหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีเมือง ซึ่งคู่กรณีที่สำคัญที่สุดของปาเลสไตน์ก็คืออิสราเอล

ประเด็นที่สอง แสดงให้เห็นถึงเส้นทางที่เต็มไปด้วยความยากลำบากของปาเลสไตน์ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ

ประเด็นที่สาม แสดงให้เห็นถึงสิ่งซึ่งผู้เขียนตั้งชื่อบทความว่าเป็น ความไร้น้ำยาของยูเอ็น ซึ่งมีเป้าประสงค์ที่จะสร้างสันติภาพในดินแดนปาเลสไตน์ให้เกิดขึ้น 
     
     ปาเลสไตน์มีความประสงค์ที่จะร้องขอให้สมัชชาใหญ่สหประชาชาติมีมติรับรองปาเลสไตน์ให้มีสถานะเป็นรัฐภาคีสมาชิกของสหประชาชาติ ซึ่งหากปาเลสไตน์ประสบความสำเร็จ จะมีพันธะทางกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประเด็นประพาทกับอิสราเอล ในประเด็นต่อไปนี้ [1]

กฎบัตรสหประชาชาติ มาตรา4 (1) สมาชิกภาพแห่งสหประชาชาติ เปิดให้รัฐที่รักสันติภาพทั้งปวงซึ่งยอมรับอยู่ในข้อผูกพันที่มีอยู่ในกฏบัตรปัจจุบัน และในความวินิจฉัยขององค์การ มีความสามารถและเต็มใจที่จะปฏิบัติตามข้อผูกพันเหล่านี้  

กฎบัตรสหประชาชาติ มาตรา4 (2) การรับรัฐใดๆเช่นว่านั้นเข้าเป็นสมาชิกแห่งสหประชาชาติจะเป็นผลแต่มติของสมัชชาตามคำแนะนำของคณะมนตรีความมั่นคง
     
     จากข้อกฎหมายข้างต้น ประเด็นซึ่งผู้เขียนเน้นสีขยายความเพิ่มเติมตามกฏการประชุมเพื่อรับคำร้องขอการเป็นภาคีสมาชิกด้วยเงื่อนไขที่ว่า จะต้องได้คะแนนจากสมาชิกเก้าในสิบห้าและจะต้องไม่มีรัฐสมาชิกในประเทศที่เป็นคณะมนตรีความมั่นคงถาวรวีโต้ มิฉะนั้นให้ยกคำร้อง  นั้นหมายความว่า แม้ว่าปาเลสไตน์จะล็อบบี้ประเทศสมาชิกในคณะมนตรีความมั่นคงได้ตามคะแนนเสียงที่กำหนด หากแต่รัฐที่เป็นสมาชิกในคณะมนตรีความมั่นคงถาวรทั้งห้าประเทศอันได้แก่ สหรัฐฯ จีน ฝรั่งเศส อังกฤษ รัสเซีย  ประเทศใดประเทศหนึ่งวีโต้ มีผลให้คำร้องถูกยกไป
   
     คำถามคือว่าเพราะเหตุใดสหรัฐฯจึงขัดขวางการร้องขอเป็นรัฐภาคีสมาชิกของสหประชาชาติของปาเลสไตน์ ผู้เขียนขอแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมาว่าเพราะสหรัฐฯเลือกอยู่ข้างอิสราเอล จึงไม่สามารถทนดูให้ปาเลสไตน์ประสบความสำเร็จในการร้องขอครั้งนี้ได้ เพราะ

กฎบัตรสหประชาชาติ มาตรา93 (1) สมาชิกทั้งปวงของสหประชาชาติ โดยพฤตินัยเป็นภาคีแห่งธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

      จากข้อกฎหมายข้างต้นหมายความว่ารัฐที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติสามารถนำกรณีพิพาทที่เป็นกฏหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีเมือง ยื่นฟ้องต่อศาลโลกเพื่อให้มีคำวินิจฉัยในกรณีข้อพิพาทดังกล่าว
ธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ มาตรา34 (1) รัฐเท่านั้นที่จะเป็นคู่ความในคดีที่มาสู่ชั้นศาลได้
ธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ มาตรา35 (1) รัฐที่เป็นภาคีแห่งธรรมนูญนี้ สามารถนำคดีมาสู่ศาลได้
จากข้อกฎหมายข้างต้นรัฐที่ไม่ใช่ภาคีสมาชิก อาจไม่สามารถ นำคดีสู่ศาลโลกได้ เว้นแต่มีกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นซึ่งผู้เขียนจะกล่าวในหัวข้อถัดไป

ธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ มาตรา35 (2)  รัฐอื่นที่ไม่เป็นภาคีอาจนำคดีมาสู่ศาลโลกได้ในบทบัญญัติซึ่งซึ่งคณะมนตรีเป็นผู้กำหนด ทั้งนี้ภายใต้เงื่อนไขแห่งบทบัญญัติเศษที่ระบุไว้ในสนธิสัญญาที่ใช้บังคับ แต่เงื่อนไขดังกล่าวจะต้องไม่เป็นเหตุให้คู่ความอยู่ในฐานะอันไม่เท่าเทียมกันกันในการพิจารณาคดีของศาล
     
     จากข้อกฎหมายข้างต้นเมื่อพิจารณาประเด็นไปที่การฟ้องคดีแผนกคดีเมืองต่างๆขึ้นสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศของรัฐซึ่งไม่ใช่ภาคีเป็นไปได้โดยคำวินิจฉัยของคณะมนตรีซึ่งต้องปราศจากการวีโต้จากรัฐภาคีสมาชิกคณะมนตรีถาวรมิฉะนั้นข้อเสนอจะตกไป นี้คือความยากลำบากของปาเลสไตน์ในด่านแรก

ธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ มาตรา36 (1) (2) (ก) (ข) (ค)เขตอำนาจศาลมีอยู่เหนือคดีต่างๆทั้งหมด ซึ่งคู่ความอ้างถึงเรื่องต่างๆซึ่งถูกระบุไว้เป็นพิเศษในกฎบัตรสหประชาชาติ หรือสนธิสัญญาและอนุสัญญาต่างๆที่ใช้บังคับอยู่ด้วย
     รัฐที่เป็นภาคีสมาชิกแห่งธรรมนูญนี้อาจแถลงในเวลาใดๆได้ว่าตนยอมรับการบังคับของศาลโดยพฤกตินัยและโดยปราศจากข้อตกลงพิเศษซึ่งอำนาจศาลในความสัมพันธ์กับรัฐอื่นซึ่งยอมรับพันธกรณีอย่างเดียวกัน  เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับข้อพิพาททางกฎหมายมีดังนี้
ก ) การตีความทางสนธิสัญญา
ข ) ปัญหากฏหมายระหว่างประเทศ
ค ) การมีอยู่ของข้อเท็จจริงใดๆ ซึ่งหากพิจารณาแล้วจะเป็นการละเมิดพันธะกรณีระหว่างประเทศ
  
     จากข้อกฎหมายข้างต้นเห็นได้ว่าประเด็นการพิจารณาของศาลเป็นประเด็นกฎหมายระหว่างประเทศและสนธิสัญญาระหว่างประเทศทั้งสิ้น ประเด็นก็คือว่าปัญหาความขัดแย้งอิสราเอล ปาเลสไตน์ ไม่ใช่ข้อพิพาทในแง่สนธิสัญญาระหว่างประเทศ(เช่นกรณีประสาทเขาพระวิหารที่ทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายกัมพูชาต่างยึดสนธิสัญญาคนละฉบับกัน) แต่เป็นประเด็นความรุนแรง และดินแดนหรือแผนที่ที่เปลี่ยนแปลงจากการทำสงครามซึ่งแผนที่ไม่ถูกนับว่าเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ดังนั้นจึงอยู่นอกเขตอำนาจพิจารณาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ นี้คืออีกหนึ่งความยากลำบากของปาเลสไตน์


     ประเด็นทั้งหมดคือความยากลำบากของปาเลสไตน์ในแง่ของข้อกฎหมายระหว่างประเทศ นอกจากนี้สิ่งซึ่งเป็นความยากลำบากของปาเลสไตน์ในเวทีระหว่างประเทศตลอดมาคือความไร้น้ำยาของสหประชาชาติ แม้กระทั่งในเหตุการณ์ครั้งนี้ สหรัฐอเมริกาแสดงท่าทีอย่างแข็งขันที่จะวีโต้และพยายามลอบบี้ให้ลิ้วล้อที่เป็นประเทศในโอวาทของตนออกเสียงคัดค้านคำร้องขอของปาเลสไตน์ ซึ่งเรื่องดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสหรัฐอเมริกาเลือกข้างอิสราเอลโดยไม่คำนึงถึงเรื่องใดๆทั้งสิ้น เมื่อห้าสิบปีที่แล้วสหรัฐอเมริกาเคยมีนโยบายต่อปัญหาความขัดแย้งอิสราเอลปาเลสไตน์อย่างไร วันนี้ก็ยังคงมีนโยบายเช่นเดิม การที่องค์การสหประชาชาติซึ่งโดยนิตินัยแล้วเป็นองค์การระหว่างประเทศที่เป็นอิสระต่อการแทรกแซงกลับไม่สามารถสร้างความเป็นธรรมในระบบระหว่างประเทศได้
     
     ประเด็นของสหประชาชาติถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ที่ถูกแทรกแซงโดยสหรัฐอเมริกาอยู่บ่อยครั้ง เพียงแต่ว่าครั้งนี้เป็นการแทรกแซงที่ค่อนข้างน่าเกลียดอย่างที่สุด เพราะประเทศต่างๆเห็นควรว่าให้รับปาเลสไตน์เข้าเป็นภาคีสมาชิกเพื่อกระบวนการสร้างสันติภาพในปาเลสไตน์ด้วยวิธีทางการเมืองระหว่างประเทศแต่สหรัฐฯเลือกที่จะตัดโอกาสความเป็นไปได้ตั้งแต่แรกแล้ว  นี่คือความลิ้นสองแฉก (Double Standard) ของสหรัฐฯในกรณีความขัดแย้งอิสราเอล ปาเลสไตน์ซึ่งยังคงไม่เปลี่ยนแปลง
    
     เมื่อดูถึงความไร้จุดยืน ความอิหลักอิเหลื่อไม่สามารถสร้างกลไกที่เชื่อถือได้ในการระงับข้อพิพาทของสหประชาชาติเพราะการถูกแทรกแซงของสหรัฐอเมริกาอยู่บ่อยๆ (ซึ่งก็เป็นแบบนี้มาตลอด) ในที่สุดแล้วจะทำให้สหประชาชาติไม่มีความน่าเชื่อถือ ภาพของการเป็นองค์การระหว่างประเทศยิ่งลดน้อยลงทุกที หากสหประชาชาติยังคงทำตัวเป็นเพียงตัวละครหนึ่งของนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ สหประชาชาติควรปรับแก้ไขกฏบัตรเพื่อลดอำนาจของประเทศมหาอำนาจโดยเฉพาะกลุ่มทีเป็นคณะมนตรีถาวรทั้งห้าประเทศให้น้อยลง แม้จะหมายถึงเงินบริจาคที่น้อยลงก็ตาม 


[1] หมายเหตุ  ตรงข้อกฎหมายระหว่างประเทศผู้เขียนจะเน้นตัวเอียงหนา 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น