วันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2554

มายาคติของนักสังคมศาสตร์มุสลิม

بسم الله الرحمن الرحيم


และแท้จริงจากหมู่พวกเขานั้น มีกลุ่มหนึ่งบิดลิ้นของพวกเขา ในการอ่านคัมภีร์ ทั้งๆ ที่มันมิได้มาจากคัมภีร์ และพวกเขากล่าวว่า มันมาจากที่อัลลอฮ์ทั้งๆ ที่มันมิใช่มาจากอัลลอฮ์ และพวกเขากล่าวความเท็จให้แก่อัลลอฮ์ ทั้งๆ ที่พวกเขาก็รู้กันดีอยู่- 78-อาลิอิมรอน


บทนำ
     กระแสหลักของวงการวิชาการสังคมศาสตร์ในปัจจุบัน ได้แก่กระแสแห่งความเข้าใจและชุดของคำอธิบายในรูปแบบของวาทกรรม (discourse)  เพื่อใช้อธิบายปรากฏการณ์ความเป็นไป (Dynamics) ของสังคมในแต่ละกระแสแห่งความเป็นไป ปฏิบัติการทางภาษาแห่งวาทกรรมจึงดูเหมือนว่าโดยตัวของมันเองแล้วเป็นการสร้างวาทกรรมขึ้นมาอีกอย่างวาทกรรมหนึ่งซึ่งผู้เขียนได้วิพากษ์วาทกรรมของวาทกรรมในหัวข้อถัดไป
     ในบทความนี้ผู้เขียนได้นำเสนอการวิพากษ์กระแส Islamization หรืออิสลามาภิวัฒน์/อิสลามานุวัตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นความเข้าใจของมุสลิมใน Islamization และชุดของคำอธิบายซึ่งดูเหมือนว่าในปัจจุบันความเข้าใจต่อ Islamization จะเป็นไปในรูปแบบ Islamic-Modernization หรือแม้แต่ Islamic-Westernization ซี่งในท้ายที่สุดก็สรุป(เอาดื้อๆ)ว่าคืออิสลาม(ซึ่งไม่เหมือนกันกับคือมุสลิม)
     วัตถุประสงค์ของบทความนี้เพื่อทำความเข้าใจ จุดยืนและหลักการ อิสลามต่อกระแสปรากฏการณ์ต่างของสังคม เข้าใจและสามารถอธิบายว่าอิสลามมีจุดยืนอย่างไรต่อสิ่งเหล่านั้น โดยเฉพาะในปัจจุบันวงการวิชาการสังคมศาสตร์มุสลิม(และสังคมศาสตร์กระแสหลักซึ่งสนใจศึกษาวิชาการด้านอิสลาม) นักวิชาการสังคมศาสตร์มุสลิมในประเทศไทยในทัศนะของผู้เขียนมี 4 ประเภทหลักๆ ดังนี้
ประเภทแรก เป็นนักวิชาการซึ่งนำวิชาการสาขาที่ตนเองได้ศึกษา(และถูกจริตด้วย)มาประยุกต์กับอิสลาม แล้วสร้างชุดของคำอธิบายว่าอิสลามเป็นอย่างไร โดยไม่ได้ทำให้สัจธรรมปรากฏขึ้นเลยเพราะมองแบบแยกส่วน(เพราะมองตามจริตของตัวเอง) เพราะมองมุมเดียวแล้วมาเหมารวมว่าอิสลามเป็นแบบนี้ (Monolith)
ประเภทที่สอง เป็นนักวิชาการประเภทอิสลามสัจธรรมโดยไม่ต้องอภิปราย นักวิชาการประเภทนี้จะไม่สามารถวิพากษ์กระแสอื่นๆโดยใช้อิสลามเป็นฐานได้เลย(หรือได้แต่มักไม่ลุ่มลึก) นักวิชาการประเภทนี้ถือเป็นกลุ่ม Islamist กลุ่มหนึ่ง
 จากประเภทของนักวิชาการทั้งสองกลุ่มข้างต้นถือเป็นความไม่สมดุลของนักวิชาการมุสลิม
ประเภทที่สาม เป็นนักวิชาการสายวิพากษ์ ผู้เขียนขอให้คำนิยามกลุ่มนี้ว่าเป็น Radical Islamist  ซึ่งถือเป็นกลุ่ม Islamist อีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมีพื้นที่ทางวิชาการอยู่ระหว่างสองกลุ่มแรกและเป็นกลุ่มปัญญาชนซึ่งปะทะทางความคิด/ทัศนะทางวิชาการกับกลุ่มแรกมาก ด้วยเหตุผลที่ว่ากลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่มองอิสลามแบบมุมเดียวและทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง
ประเภทที่สี่ เป็นนักวิชาการประเภทที่เป็นมุสลิมเท่านั่นซึ่งผู้เขียนจะไม่ขออภิปรายถึงกลุ่มเหล่านี้

Islamization  ในฐานะที่เป็นวาทกรรม
     วาทกรรม (discourse) ไม่ได้หมายถึง คำพูด ภาษา หรือวาทศิลป์อย่างที่มักเข้าใจในความหมายทั่วไป แต่วาทกรรมในความหมายทางสังคมศาสตร์หมายถึงชุดคำอธิบายที่สร้างขึ้นเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมซึ่งเป็นกระบวนการสร้าง/ผลิต ลักษณะ/เอกลักษณ์ให้กับความเป็นไปต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบคิด ความรู้ ความเชื่อและตรึงสิ่งเหล่านั้นให้อยู่ในระบบคิดของคนในสังคมให้อยู่ในระบบหรือแบบแผนเดียวกัน(Hegemony)
     การวิเคราะห์วาทกรรมด้วยกรอบคิดของแนวการวิเคราะห์วาทกรรมหลักและวาทกรรมกระแสรองซึ่งต่อสู้เพื่อแย่งชิงพื้นที่(space)ทางความคิดของสังคม/ผู้คน ซึ่งแวทางการวิเคราะห์เป็นมุมมอง/กรอบคิดของักสังคมวิทยา นักมานุษยวิทยา นักรัฐศาสตร์ตะวันตก(แม้ว่าจะเป็นชาวเอเซียนก็ตาม แต่แทบทั้งหมดผ่านระบบการศึกษาแบบตะวันตก) แนวทางวิเคราะห์ข้างต้นจึงเกิดการ ไม่สิ้นสุด ของการวิเคราะห์วาทวาทกรรมด้วยเหตุที่ว่าสังคมย่อมไม่แช่แข็งอยู่กับที่ ดังนั้นในปัจจุบันจึงเกิดลัทธิมัวะตาซิละสมัยใหม่ซึ่งเป็นการใช้ปัญญาวิเคราะห์ไปอย่างเลยเถิดและไม่มีฐานคิด/แกนคิดที่แน่ชัดเป็นของตนเอง(หรือหมายถึงการไม่มีฐานคิด/แกนคิดที่แน่ชัดก็คือฐานคิดของกลุ่มนี้นั้นเอง) ลัทธินี้คือ แนวคิดหลังสมัยใหม่นิยม (Postmodernism)ซึ่งได้รับการกล่าวถึงอย่างมากในวงการสังคมศาสตร์ปัจจุบัน
     วาทกรรมไม่ใช่สิ่งอื่นใดนอกจากสิ่งซึ่งถูกอธิบายให้เป็นศาสตร์ด้วยวาทะ/ภาษาทางวิชาการทั้งที่จริงๆแล้ววาทกรรมไม่ใช่สิ่งอื่นใดเลยนอกจากปรากฏการณ์/พลวัตรของสังคมในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง วาทกรรมไม่จำเป็นต้องวิเคราะห์กันไปอย่างไม่สิ้นสุดเพราะเพียงแค่หาแกนการวิเคราะห์ที่ต้องการ(ซึ่งสำหรับมุสลิมแล้วย่อมหมายถึงหลักการศาสนา) แล้วหาข้อสรุปได้อย่างไม่ต้อง Post Modern

ว่าด้วย  Islamization
     Islamization หากจะแปลตามรากศัพท์แล้วหมายถึง การทำให้เป็นอิสลาม สำหรับในทางสังคมศาสตร์แล้ว   Islamization  เป็นการอธิบายถึงปรากฏการณ์ของการปรับอิสลามเพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นสมัยใหม่ถือเป็นการกล่อมเกลาทางสังคมรูปแบบหนึ่ง (Socialization) ปรากฏการณ์ Islamization ที่ชัดเจนอย่างหนึ่งคือ Islamization of Knowledge กล่าวคือ เป็นขบวนการที่พยายามจะขัดเกลาความรู้สมัยใหม่หรือความรู้แบบโลกวิถีให้อยู่ภายใต้กรอบและหลักการของอิสลาม ด้วยมาตรฐานการวัดความน่าเชื่อถือ ความถูกต้องของความรู้ที่มนุษย์พยายามสร้างขึ้น เช่น โดยการทดลอง การสังเกต โดยการพิสูจน์ทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่า ด้วยประสาทสัมผัสของมนุษย์ที่มีอยู่ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นความจริง เพื่อเป็นการสร้างองค์ความรู้ที่สอดรับกับหลักการอิสลาม
      ขบวนการในการสังเคราะห์องความรู้ที่เป็น Islamization of Knowledge ตามที่ ศาสตราจารย์ ดร.อิสมาแอล อัลฟารุกี นักวิชาการแห่ง International Institute of Islamic Thought (IIIT). ผู้ซึ่งเริ่มใช้คำว่า Islamization of Knowledge ในงานวิชาการของท่าน ได้วิเคราะห์ขั้นตอนไว้ ดังนี้
1.การสร้างความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาการสมัยใหม่
2. การสำรวจสาขาวิชาการสมัยใหม่
3. การสร้างความเชี่ยวชาญในมรดกทางความรู้อิสลาม
4. การวิเคราะห์มรดกทางความรู้อิสลาม
5. การสร้างความเกี่ยวโยงระหว่างอิสลามกับสาขาวิชาสมัยใหม่
6. การประเมินค่าเชิงวิพากษ์ต่อวิชาการสมัยใหม่
7. การประเมินค่าเชิงวิพากษ์ต่อมรดกทางความรู้อิสลาม
8. การสำรวจปัญหาที่สำคัญของอุมมะห์อิสลาม
9. การสำรวจปัญหาของมนุษยชาติ
10. การวิเคราะห์และสังเคราะห์มรดกทางความรู้อิสลามกับวิชาการสมัยใหม่อย่างสร้างสรรค์
11. การสร้างวิชาความรู้ใหม่ภายใต้กรอบอิสลาม: ผลิตหนังสือแบบเรียน
12. การเผยแพร่องค์ความรู้
     จากแนวทางการสังเคราะห์ดังกล่าวของ ศาสตราจารย์ ดร.อิสมาแอล อัลฟารุกี จะเห็นว่ากระบวนการ Islamization of Knowledge เป็นกระบวนการสร้างองค์ความรู้ในแบบอิสลามเชิงประจักษ์ (Emperical Islamic of Knowledge) ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นมรรควิธีการสร้างองค์ความรู้ที่วางอยู่บนหลักการอิสลาม ไม่มีประเด็นใดที่ขัดแย้งกับหลักการอิสลาม
     อย่างไรก็ตามในปัจจุบันวาทกรรม Islamization และ Islamization of Knowledge ถูกเข้าใจ/ตีความผิดๆไปต่างๆ ได้แก่การยกข้อมูลด้านเดียว/กล่าวเพียงหลักการอิสลามด้านเดียว แล้วสรุปว่าคืออิสลาม คือ Islamization of Knowledge ซึ่งหากจะใช้บรรทัดฐานของ ศาสตราจารย์ ดร.อิสมาแอล อัลฟารุกี เป็นมาตรวัดความเป็น Islamization of Knowledge ก็จะพบว่า ไม่เข้าเกณฑ์ตั้งแต่ข้อที่ 3 คือการสร้างความเชี่ยวชาญในมรดกทางความรู้อิสลาม เพราะการวิเคราะห์ใช้หลักการอิสลามเพียงบางส่วน/ด้านเดียวเท่านั่น อย่างไรก็ตามองค์ความรู้ในประเภทข้างต้นที่ผู้เขียนยกไปกำลังมีอิทธิพลต่อวงการวิชาการสังคมศาสตร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยอย่างมากจนอาจกล่าวได้ว่ากลายเป็นมายาคติของนักสังคมศาสตร์มุสลิมไปเลยก็ว่าได้ ซึ่งในประเด็นนี้ผู้เขียนขออภิปรายรายละเอียดในหัวข้อถัดไป                    .............................

 
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่  http://www.mureed.com/article/Asabikoon/Others/Islamization-Asabikoon.doc 






1 ความคิดเห็น: