วันเสาร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2554

ตัวตน(ที่ไม่เคยเปลี่ยน)ของชาตินิยม


อานนท์  บุญมาศ
    
     แนวคิดชาตินิยมเป็นความคิดที่ยังคงมีชีวิตชีวาเสมอ ไม่ว่าโลกจะก้าวไปไกลเพียงใด ความคิดชาตินิยมหรือเชื้อชาตินิยมก็ยังอยู่ได้ตลอดมา ในทางการเมืองชาตินิยมซึ่งน่าจะตายจากไปจากการเข้าสู่โลกไร้พรมแดน แต่นั้นก็ดูเหมือนว่าโลกยังไม่เคยไร้พรมแดนจริงๆ  ในทางเศรษฐกิจมหภาค การประกาศ Washington Consensus และพร้อมๆกับการดำเนินนโยบายแบบ Neo liberalism แต่ในที่สุดแล้วดูเหมือนว่าแนวนโยบายดังกล่าวเป็นเพียงคำพูดกันโก้หรูเพื่อปลอบใจชาวโลกที่เพิ่งผ่านวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่มาเท่านั้นเอง
    
     แนวคิดประวัติศาสตร์ชาตินิยมซึ่งผู้เขียนจะกล่าวระหว่างชาตินิยมสยาม/ไทย และชาตินิยมปาตานี/ปัตตานี เป็นสำคัญในงานชิ้นนี้  แนวคิดชาตินิยมมีลักษณะสำคัญที่ไม่เคยเปลี่ยนและไม่มีวันเปลี่ยนได้เลย คือความเป็นเราในฐานะ Common Consciousness  ซึ่งยึดโยงเครือข่ายแห่งความคิดนี้ไว้ด้วยกัน และความไม่ใช่เรา/ความเป็นอื่น / Alieness  สองสิ่งสำคัญเป็นปฏิกิริยาที่จำเป็นต่อกันในการสถาปนาความคิดชาตินิยมที่แต่เดิมไม่เคยมีอยู่จริงมาก่อนเลย กล่าวคือเป็นการสถาปนาความเป็น Malayu Nationalism และในอีกแง่หนึ่งก็เป็นการสถาปนา Royal Siamese-Thai Nationalism
     
     กระบวนการดำเนินการสถาปนาความคิดทั้งสอง(และหมายรวมถึงชาตินิยมอื่นๆทั้งโลก)คือการเขียนประวัติศาสตร์ความเป็นเราซึ่งโดยส่วนมากเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลนั่นเอง  คำถามที่เกิดขึ้นกับประวัติศาสตร์ดังกล่าวคือ บาดแผลต่างๆเกิดขึ้นตอนไหน การตีความบาดแผลต่างๆถูกปรับเปลี่ยนไปตามการเวลาหรือไม่ และที่คำถามสำคัญที่สุดคือแล้วจะจัดการกับบาดแผลในอดีตที่เป็นความทรงจำในปัจจุบันอย่างไร
     
      เมื่อกล่าวถึงจุดนี้ผู้เขียนขอกล่าวทีละประเด็น ประเด็นแรกคือ ความทรงจำแห่งประวัติศาสตร์บาดแผลจริงๆแล้ว มันเป็นบาดแผลจริงหรือไม่หรือมันถูกทำให้เป็นบาดแผลภายหลัง  ประเด็นนี้คือสิ่งซึ่งชาญวิทย์ เกษตรศิริ วิจารณ์ไว้ว่าเป็นประวัติศาสตร์บกพร่องของชาตินิยม / Inadequate History  นั้นคือการตีความเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์อย่างบกพร่อง ผิดเพี้ยน และไม่มีการตระหนักในความเป็นจริงของประวัติศาสตร์ในขณะนั้นๆ ทั้งทีเพราะการตีความทั้งหมดอาศัยกรอบแห่งชาตินิยมอันคับแคบในการตีความ
     
      กรณีศึกษาทางประวัติศาสตร์ชาตินิยมทั้งของสยามและปาตานีเอง ได้แก่ ประวัติศาสตร์การเสียเมือง? (ผู้เขียนใช้เครื่องหมายคำถามเพราะตระหนักดีว่า การมองเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ดังกล่าวเป็นเพียงแค่มุมมองช่วงใดช่วงหนึ่ง อย่างน้อยที่สุดก็ช่วงที่ประวัติศาสตร์ดังกล่าวถูกเขียนขึ้น ป้องกันการผูกขาดความจริงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความคิดชาตินิยมอันคับแคบ)  คำถามของประวัติศาสตร์บาดแผลดังกล่าวคือการถูกตีความว่าเป็นบาดแผลเกิดขึ้นตอนไหน นี้เป็นเพียงประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้างขึ้นมาเท่านั้น เพราะในยุคเสียกรุงของฝ่ายชาตินิยมสยาม และยุคเสียเมืองของชาตินิยมมลายู โลกทัศน์ของทั้งกรุงและเมืองในสมัยนั้นพร่ามัวมาก ไม่มีคำว่ารัฐชาติและเส้นแดนเขต ความเป็นพลเมืองหรือประชากรมีลักษณะพร่ามัวมากในพื้นที่ชายขอบ กล่าวอย่างตรงไปตรงมา การเสียกรุงละการเสียเมืองเป็นเพียงการสูญเสียอำนาจของกษัตริย์เท่านั้น  ธงชัย วินิจจะกูล ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการตีความประวัติศาสตร์บกพร่องเช่นนี้ไว้ใน Siam Map วิทยานิพนธ์อันโด่งดังของเขาว่า ความสัมพันธ์ไม่มีแนวคิดองค์อธิปัตย์เหนือเส้นเขตแดนเพราะชนชั้นนำในอาณาจักรต่างๆในช่วงเวลาดังกล่าวตระหนักดีว่าดินแดนของตนเป็นประเทศราชที่ถูกครองครองโดยอาณาจักรอื่นๆหรือหลายอาณาจักรในช่วงเวลาเดียวกัน มีอาณาเขตไม่ชัดเจนและนับได้ว่ามีอิสระในการปกครองตนเอง แต่นักประวัติศาสตร์ยุคใหม่กลับไม่ตระหนักในความจริงข้อนี้
    
      ตัวตนที่ไม่เคยเปลี่ยนอีกอย่างหนึ่งของชาตินิยมคือการผูกโยงกับสถาบันบันเก่าแก่ของสังคม อันได้แก่ สถาบันกษัตริย์ วาทกรรมความเป็นเชื้อชาติเดียวกัน การผูกขาดศาสนาอย่างคับแคบ  ตัวอย่างเช่นชาตินิยมไทยซึ่งถูกเขียนให้ยึดโยงกับสถาบันกษัตริย์ กับความเป็นไทย นี้เป็นการผูกขาดความจริงทางประวัติศาสตร์อย่างร้ายแรง เพราะ ไม่มีนักประวัติศาสตร์หรือนักมานุษยวิทยาคนไหนที่ให้คำจำกัดความอย่างเป็นสากลได้ว่า ไทยหรือคนไทยหรือเชื้อชาติไทยคือใคร ความจริงก็คือว่าสยามมีหลายเชื้อชาติ และทุกเชื้อชาติที่อาศัยอยู่ในสยามไม่ใช่คนไทยตั้งแต่แรกแล้ว 
    
      ส่วนกรณีชาตินิยมมลายู ในแง่ของเชื้อชาติผู้เขียนยังไม่พบงานวิจัยทางประวัติศาสตร์หรือมานุษยวิทยาชิ้นใดที่จะปภิปรายถึงตัวตนของเชื้อชาติมลายูอย่างจริงจัง แต่ประเด็นที่แน่นอนซึ่งเป็นสิ่งซึ่ง ทวีศักดิ์ เผือกสม นัก(เรียน)ประวัติศาสตร์ ผู้สนใจทางด้านอินโด มาเลย์  กล่าวว่า  คนอินโดไม่เคยมีจิตสำนึกว่าตนเองเป็นชาวมลายู คนอินโดเข้าใจและเชื่อเสมอว่าตัวเองคือชาว(เชื้อชาติ)อินโด  ทั้งหมดคือประเด็นข้อถกเถียงอันไม่รู้จบในเรื่องของความคับแคบและความมั่ว/Mixed  ของเชื้อชาติ/ชาติพันธุ์ต่างๆ
     
      ลักษณะหนึ่งที่มาพร้อมกับความเป็นไทยหรือความเป็นมลายูนิยมคือความเป็นพุทธหรือความเป็นอิสลาม  ผู้เขียนเห็นว่าการใช้ศาสนาไม่ว่าศาสนาใดก็ตามมาเป็นเครื่องมือสนองความต้องการของชาตินิยมเป็นความคับแคบอันร้ายกาจที่สุด เพราะศาสนา(ไม่ว่าจะศาสนาไหน) สมควรที่จะมีสถานะเป็น Cosmopolitan ในแง่ของศาสนา ที่ใครก็มีสิทธิที่จะนับถือ  การใช้ศาสนาพุทธมาผูกขาดกับความเป็นคน(ที่อาศัยอยู่ในประเทศ)ไทย คำถามคือแล้วคนที่ไม่ได้นับถือพุทธ จะมีพื้นที่ตรงไหนในประเทศนี้  ในทางกลับกันการผูกขาดศาสนาอิสลาม(และการเรียกมลายูว่าภาษาอิสลาม)ของชาตินิยมมลายู คำถามคือแล้วมุสลิมที่ไม่ใช่คนมลายู(ซึ่งมีจำนวนมากกว่าคนมลายูเป็นพันเท่า) จะอยู่ตรงไหน นี้คือความคับแคบของชาตินิยม นี้คืออันตรายของการนำศาสนามาเป็น Discourse Strategy ของชาตินิยม  (ณ จุดนี้ผู้เขียนจะไม่ของอภิปรายในแง่ของหลักคำสอนของอิสลามเอง ที่ห้ามชาตินิยม หรือภาษาอาหรับเรียกว่า Asabiyah ไว้อย่างรุนแรง ทั้งในแง่ของมุมมองต่ออธิปไตย มุมมองต่อลักษณะเชื้อชาติ มุมมองของสิทธิความเป็นผู้นำ เป็นต้น)    
     
      บทความที่กล่าวมาทั้งหมดดูเหมือนว่าผู้เขียนจะมีปัญหากับแนวคิดชาตินิยม ซึ่งผู้เขียนขอบอกว่าผู้เขียนไม่ได้มีปัญหากับความคิดชาตินิยม เพราะโดยตัวของมันชาตินิยมไม่ได้สร้างปัญหา เพราะมันคงไม่มีอะไรมากมายหากชนชาติหนึ่งจะมีความทรงจำของตัวเองเป็นสิ่งซึ่ง เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน เรียกว่าเป็น The Biography of Nation  แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น(และไม่ใช่ผู้เขียนคนเดียวที่มีปัญหากับสิ่งนี้) คือความคับแคบของชาตินิยมต่างหาก ความคับแคบเหล่านี้ถูกผลิตผ่านกระบวนการสร้างประวัติศาสตร์บกพร่อง การตัดตอนทางประวัติศาสตร์ การผูกขาดความจริง และที่สำคัญที่สุดคือการที่นักชาตินิยม(ผู้รักชาติพันธุ์ตัวเองยิ่งชีพ)เหล่านี้ขาดไปคือชาตินิยมของความเป็นมนุษย์ด้วยกัน จนหลายครั้งหลายคราที่ชาตินิยมอันคับแคบได้กระทำในสิ่งซึ่งมนุษย์ไม่ควรกระทำต่อมนุษย์ด้วยกัน อย่างไม่มีข้อยกเว้นใดๆ
    
      สุดท้ายผู้เขียนไม่มีข้อสรุปใดๆ มีเพียงความหวังและเชื่อว่าเป็นไปได้อย่างแน่นอนเช่นเดียวกับ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ที่ยังคงมีความหวังที่จะเห็นชาตินิยมที่จะ Make Love not War เสมอมา โดยไม่คำนึงถึงอายุของท่านว่าจะล่วงเลยไปเท่าไรแล้ว  ท่านยังคงมีหวังอย่างไม่เปลี่ยนแปลง …..      


   หมายเหตุ บทความนี้เผยเเพร่ครั้งเเรกใน www.deepsouth.org   

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น